ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

หลอดลม

เป็นท่อทางเดินหายใจ ภายในช่องอก ที่แยกออกจากท่อลม ตรงระดับกระดูกสันหลัง ส่วนอกข้อที่สี่ กับข้อที่ห้า

ทางเดินหายใจ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนลำเลียงอากาศและส่วนแลกเปลี่ยนแก๊ส หรือส่วนหายใจ ทางเดินหายใจ เปรียบได้กับต้นไม้ โดยส่วนลำเลียงอากาศ ได้แก่ ท่อลมและหลอดลม ขนาดต่าง ๆ  เทียบได้จากต้น และกิ่งก้านของต้นไม้ ส่วนหายใจเปรียบเหมือนใบของต้นไม้

หลอดลม ก็เช่นเดียวกับกิ่งไม้ มีการแตกกิ่งก้านสาขา เมื่อออกจากท่อลม จะแยกเป็นข้างซ้ายและข้างขวา เรียกว่า หลอดลมปฐมภูมิ  หลังจากเข้าไปอยู่ในปอดซ้ายและขวา แล้วจะแตกออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ และหลอดลมตติยภูมิ แล้วแตกกิ่งต่อไปอีกรวม 12 - 15 ครั้ง จึงกลายเป็นหลอดลมฝอย ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อลม จะเล็กลงเรื่อย ๆ คือ จากประมาณ 2 ซม.  ในหลอดลมปฐมภูมิจนถึงขนาด 0.3 - 0.5 มม.  ในหลอดลมฝอย นอกจากนั้น ความหนาของผนังของส่วนลำเลียงอากาศ ก็จะลดลงโดยลำดับด้วย ปริมาณของกระดูกอ่อน ซึ่งทำหน้าที่พยุงไม่ให้ท่อแฟบ ค่อย ๆ ลดลงจนหลอดลมส่วนปลาย ๆ ไม่มีกระดูกอ่อนเลย ตรงกันข้ามปริมาณกล้ามเนื้อเรียบ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จำนวนชั้นและความสูงของเซลล์บุผิว ของผนังด้านในจะค่อย ๆ ลดลง เซลล์ของผนังด้านในจะค่อย ๆ ลดลง เซลล์ของผนังด้านในมีอยู่สามประเภท คือ เซลล์ชนิดมีขน สำหรับพัดโบกสิ่งแปลกปลอม ออกสู่ภายนอก เซลล์สร้างเมือก และเซลล์ให้ความชื้นแก่อากาศหายใจ

เมื่อมีการสำลัก หรือมีสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในท่อลม มักตกลงไปในปอดข้างขวาเป็นส่วนใหญ่ หลอดลมปฐมภูมิ แตกออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ โดยข้างซ้ายแตกเป็นสองหลอด ข้างขวาสามหลอด เข้าสู่ปอดซ้ายซึ่งมีสองพู และปอดขวา สามพู หลอดลมทุติยภูมิของปอดแต่ละข้าง จะแตกกิ่งออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ ข้างละสิบกิ่ง ติดต่อกับส่วนเนื้อปอด มีขอบเขตค่อนข้างแน่นอน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย