ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

เสภา

คำว่า เสภา มีมูลศัพท์มาจากภาษาใด และแปลว่าอะไรนั้น ไม่เป็นที่ชัดแจ้ง

ประเพณีการขับเสภา น่าจะมีมูลเหตุมาจากประเพณีการเล่านิทาน ซึ่งมีมาแต่ครั้งพุทธกาล ต่อมามีการนำนิทานมาผูกเป็นกลอน และขับเป็นลำนำ เรียกว่า การขับเสภา ซึ่งน่าจะมีในประเทศไทยมาช้านาน ตอนต้นสันนิษฐานว่า เป็นนิทานเฉลิมพระเกียรติ์ ต่อมาถึงตอนปลายสมัยอยุธยา ปรากฎว่านิยมขับเสภาแต่เรื่อง ขุนช้างขุนแผน เพียงเรื่องเดียว

กลอนเสภา เน้นการเล่าเรื่องจึงไม่คำนึงถึงฉันทลักษณ์มากนัก อย่างไรก็ดี ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกลอนบางตอนไพเราะมาก การขับเสภาถ้าขับคนเดียว มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าประสงค์จะให้ออกรสชาติ ก็ใช้ผู้ขับสองคนโต้ตอบกัน

แต่เดิม การเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่าเป็นนิทานทรงเครื่อง กล่าวคือ เป็นการเล่านิทานด้วยถ้อยคำธรรมดา ไปตามเหตุการณ์จะแต่งเป็นกลอนเฉพาะบทที่สำคัญ เช่น บทพ้อ บทชมโฉม บทสังวาส บทชมดง

การขับเสภา เริ่มถือหนังสือบทเป็นสำคัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ การแต่งบทเสภา มีกระบวนที่จะแต่งได้กว้างขวางกว่าบทละคร เป็นหนังสือที่ให้เห็นสำนวนกวีต่าง ๆ กันเป็นอย่างดี หนังสือเสภาจึงวิเศษในกระบวนหนังสือกลอน จึงเป็นเสน่ห์

การเล่นเสภา ในตอนแรกถือเอาเสภาเป็นสำคัญ ปี่พาทย์เป็นอุปกรณ์ดนตรีเสริม แต่พอเล่นกันมากเข้า ก็เกิดการประชันขันแข่งกัน เรื่องปีพาทย์จึงมีความสำคัญคู่กับเสภาไปในที่สุด

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย