ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สุลต่าน

มาจากภาษาอาหรับแปลว่า ชัยชนะ ใช้ในความหมายว่า ผู้ปกครอง หรือกษัตริย์ นิยมใช้กับผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน

เดิมชาวอาหรับมีแต่ตำแหน่งชีค ซึ่งมักแปลว่า หัวหน้าเผ่า ตำแหน่งเอมี  หรืออามีร์ ซึ่งเทียบกับเจ้าชาย หรือผู้ปกครองอาณาจักรเล็ก ๆ ต่อมาชาวอาหรับได้รับคำสอนจาก นบีมุฮัมมัดก็ยอมรับศาสนาอิสลาม เมื่อนบีมุฮัมมัดล่วงลับไป ก็มีผู้ปกครองชาวมุสลิมสืบต่อเรียกว่า คอลีฟะฮ์ แปลว่า ผู้สืบต่อ หมายถึง ผู้สืบต่อจากนบีมุฮัมมัด คอลีฟะฮ์มีอำนาจปกครองทั้งในด้านอาณาจักร และศาสนจักร สี่คนแรกได้มาจากการสืบตำแหน่งทางเชื้อสายคือ คอลิฟะฮ์วงศ์อุมัยยะ และวงศ์อัปบาซียะ ตามลำดับ คอลีฟะฮ์ดังกล่าว เป็นตำแหน่งผู้ปกครองจักรวรรดิ์อยู่จนถึงปี พ.ศ.1801 เมื่อจักรวรรดิ์อาหรับล่มสลาย

ก่อนที่จักรวรรดิ์อาหรับจะสิ้นสุดลงนั้น ดินแดนในจักรวรรดิ์เริ่มแตกแยก ผู้นำมุสลิมซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ในดินแดนต่าง ๆ โดยไม่ยอมขึ้นอยู่กับจักรวรรดิ์อาหรับ จะเรียกตนเองว่า สุลต่าน อันเป็นตำแหน่งผู้ปกครองที่ได้มาจากชัยชนะ ในการรบต่อสู้  เช่น สุลต่านมะหมูด แห่งคอชนี (พ.ศ.1540 - 1573) บริเวณซึ่งปัจจุบันคือ อัฟกานิสสถาน สุลต่านแห่งราชวงศ์เซลจูก ซึ่งมาจากอนาโตเลีย ในเอเชียน้อย แล้วรุกเข้ามาโจมตีจักรวรรดิ์อาหรับที่อ่อนแอ ในบริเวณดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพวกคริสต์ศาสนิกชน อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสดระหว่างปี พ.ศ.1642 - 1834 ผู้นำมุสลิมซอลาหุดดิน หรือซาลาดิน ซึ่งนำชาวมุสลิมเข้าต่อสู้กับพวกครูเสดในพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด ก็ได้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน ครองอาณาจักรอียิปต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.1718 และใช้อียิปต์เป็นที่มั่นสู้รบกับพวกครูเสด มีชัยชนะหลายครั้ง จนพวกครูเสดต้องยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกในปี พ.ศ.1734

แต่เมื่อสุลต่านซาลาดินสิ้นพระชนม์ พวกครูเสดก็เริ่มทำสงครามอีก เชื้อสายซาลาตินสู้รบกันเอง อาณาจักรอียิปต์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสุลต่าน ราชวงศ์มัมลูก ต่อมากองทัพชาวมองโกลได้ยกทัพมาตีกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอาหรับแตกในปี พ.ศ.1811 ทำให้คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะ แห่งจักรวรรดิ์อาหรับสิ้นอำนาจ สุลต่านราชวงศ์มัมลูก จึงแต่งตั้งตนเองเป็นทั้งสุลต่าน และคอลีฟะฮ์ โดยถือว่าสืบทอดตำแหน่งคอลยีฟะฮ์ มาจากจักรวรรดิ์อาหรับซึ่งล่มสลายแล้ว

ในบริเวณตะวันออกกลาง ก็มีผู้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน เช่น สุลต่านติมูร์ (พ.ศ.1874 - 1947) ส่วนในอินเดีย เหนือช่วง พ.ศ.1754 - 2069 ก็มีสุลต่านหลายราชวงศ์ครองสืบต่อกัน โดยมีกรุงเดลลีเป็นเมืองหลวง

ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน ซึ่งเริ่มก่อตัวราวปี พ.ศ.1843 และขยายอำนาจกว้างขวางขึ้นเมื่อสุลต่านเมห์เมตที่สอง ตีได้กรุงคอนสแตนติโนเบิลในปี พ.ศ.1996 และได้รับสมญาว่า เมห์เมตผู้พิชิต ต่อมาอาณาจักรออตโตมันขยายอาณาเขตออกไปถึงสามทวีปได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เมื่อสุลต่านเซริมรบชนะอียิปต์ในปี พ.ศ.2060 สุลต่าน - คอลีฟะฮ์ มูตาวักกิน แห่งราชวงศ์มัมลูกซึ่งครองอียิปต์ ขณะนั้นก็ได้ถวายตำแหน่งคอลีฟะฮ์แก่สุลต่านเซลิม แต่สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ก็ยังมิได้สนใจเรียกตนเองเป็น คอลีฟะฮ์ จนกระทั่งจักรวรรดิ์ออตโตมันสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2461 ตำแหน่งสุลต่านจึงถูกยุบไปในปี พ.ศ.2465 และตำแหน่งคอลีฟะฮ์ถูกยุบไปในปี พ.ศ.2477 โดยยคำสั่งของประธานาธิบดีเดมาล อะตาเติร์ก แห่งสาธารณรัฐตุรกี

ในทางทฤษฎีตำแหน่งสุลต่านต่าง ๆ จากตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ตรงที่สุลต่านไม่มีอำนาจทางด้านศาสนา เช่น คอลีฟะฮ์ ในบางกรณีคอลีฟะฮ์เป็นผู้แต่งตั้งสุลต่าน แต่ในทางปฏิบัติสุลต่านมีอำนาจเช่นเดียวกับกษัตริย์ ชาวมุสลิมในอาณาจักรของสุลต่าน เอ่ยนามสุลต่านในการนมาซ (ละหมาด) ทุกครั้ง

มีข้อยกเว้นในเปอร์เซียหรืออิหร่าน ซึ่งตำแหน่งสุลต่านเทียบเท่าข้าหลวงเท่านั้น ชาวเปอร์เซียเรียกผู้ปกครองว่า ชาห์ เรียกจักรวรรดิ์ว่า ชาห์อินชาห์ ราชวงศ์มุกัล ซึ่งครองอินเดียระหว่างปี พ.ศ.2069 - 2401 นั้น เรียกตัวเองแบบเปอร์เซียว่า ชาห์ ส่วนมุสลิมในแหลมมลายู เรียกผู้ปกครองว่า ออตโตมัน

ปัจจุบันตำแหน่งสุลต่านยังใช้อยู่ในบางรัฐของประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และบางประเทศในตะวันออกกลาง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย