ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มัธยมศึกษา

เป็นการศึกษาหลังระดับประถมศึกษา หรือระหว่างประถมศึกษากับอุดมศึกษา กำหนดเวลาเรียนหกปี มีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนมีความรู้ทางวิชาการ และวิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย ความต้องการ ความสนใจและความถนัด เพื่อให้แต่ละบุคคลเข้าใจ และรู้จักเลือกวิชาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และสังคม แบ่งการศึกษาออกเป็นสองตอน คือ มัธยมตอนต้นกับมัธยมศึกษาตอนปลายใช้เวลาเรียนตอนละสามปี ผู้เรียนในระดับนี้ ต้องเป็นโสดแต่ไม่กำหนดอายุผู้เรียน

การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาคุณภาพชีวิต และการศึกษาต่อให้สามารถเลือกแนวทาง ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม ตามบทบาทและหน้าที่ของตน ในฐานะพลเมืองดี โดยให้ผู้เรียนมีความรู้ และทักษะเพียงพอที่จะเลือก และตัดสินใจประกอบสัมมาชีพ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และครองชีวิตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม

การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการเพิ่มเติมจากตอนต้นโดยให้ผู้เรียนได้พัฒนาเชาวน์ปัญญา มีความรู้และทักษะเฉพาะด้านตามศักยภาพ เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ รวมพัฒนาสังคมด้วยแนวทาง และวิธีการใหม่ ๆ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำว่า มัธยมศึกษาเริ่มปรากฎเป็นครั้งแรก ในประวัติการศึกษาไทยในร่างโครงการศึกษา พ.ศ.2441 ซึ่งพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ร่างขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และได้มีวิวัฒนาการดังนี้

พ.ศ.2441  เป็นการศึกษาประเภทสามัญเรียกว่า การเล่าเรียนเบื้องกลาง กำหนดเวลาเรียนสี่ปี อายุผู้เรียนตั้งแต่ 14 - 17 ปี
พ.ศ.2445  ใช้เวลาเรียนแปดปี ผู้เรียนจะต้องมีอายุไม่เกิน 15 ปี
พ.ศ.2456  ใช้เวลาเรียนแปดปี แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้นสามปี ตอนกลางสามปี และตอนปลายสองปี

พ.ศ.2464  แบ่งเป็นมัธยมศึกษาสามัญ และมัธยมศึกษาวิสามัญ มัธยมศึกษาสามัญแบ่งออกเป็นตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย รวมแปดปี ส่วนมัธยมศึกษาวิสามัญจัดเป็นสามชั้น ถึงชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง

พ.ศ.2471  ปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนสองปี โดยแยกเป็นสามแผนก ถึงแผนกกลาง สอนวิชาทั่วไป แผนกภาษาสอนหนักไปทางภาษาต่างประเทศคือ ให้เรียนภาษาอังกฤษ และเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน หรือภาษาจีน และแผนกวิทยาศาสตร์ สอนหนักไปทางวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

พ.ศ.2475 ชั้นมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสองตอนคือ ตอนต้นสี่ปี (ม.1 - ม.4) ตอนปลายสี่ปี (ม.5 - ม.8)  ในตอนปลายแบ่งเป็นสี่แผนก เป็นสายสามัญสองแผนกคือ แผนกอักษรศาสตร์ และแผนกวิทยาศาสตร์ สายวิสามัญสองแผนกคือ แผนกกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และแผนกวิชาช่างฝีมือ

พ.ศ.2479  ลดการศึกษาระดับมัธยมเหลือหกปี แบ่งเป็นสองตอนคือ ตอนต้นสามปี (ม.1 - ม.3) ตอนปลาย (ม.4 - ม.6)  ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 เรียกใหม่ว่า ชั้นเตรียมอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายว่าเมื่อจบแล้ว จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

พ.ศ.2491  แบ่งหลักสูตรระดับเตรียมอุดมศึกษาออกเป็นสองแผนกคือ แผนกอักษรศาสตร์ และแผนกวิทยาศาสตร์
พ.ศ.2494  ชั้นมัธยมศึกษาแบ่งเป็นสามสายคือ มัธยมสามัญศึกษา มัธยมวิสามัญศึกษา และมัธยมอาชีวะศึกษา ทั้งสามสายมีตอนต้นและตอนปลาย ตอนละสามปึ

พ.ศ.2503  แบ่งเป็นสองตอนคือ ตอนต้นแบ่งเป็นสายสามัญสามชั้น (ม.ศ.1 - ม.ศ.3) และสายอาชีพ 1 - 3 ชั้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งแบ่งเป็นสองสายคือ สายสามัญสองชั้น  (ม.ศ.4 - ฒ.ศ.5) และสายอาชีพ 1 - 3 ชั้น

พ.ศ.2510  ใช้หลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนมัธบมแบบประสม กำหนดเวลาเรียนสามปี (ม.ศ.1 - ม.ศ.3)  หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสองปี (ม.ศ.4 - ม.ศ.5)

พ.ศ.2518  หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสองปี (ม.ศ.4 - ม.ศ.5) มีวิชาบังคับและวิชาเลือก เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษา หรือออกไปประกอบอาชีพ

พ.ศ.2521  แบ่งหลักสูตรออกเป็นสองตอนคือ ตอนต้นสามปี (ม.1 - ม.3) และตอนปลายสามปี (ม.4 - ม.6)

พ.ศ.2524 ประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนสามปี (ม.4 - ม.6) วิชาที่เรียนแบ่งเป็นวิชาบังคับ และวิชาเลือก

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย