ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มังระ

เป็นโอรสองค์ที่สองพระเจ้าอลองพญาแห่งพม่า และเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์อลองพญา ครองราชย์อยู่ 13 ปี (พ.ศ.2306 - 2319) พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากเมืองรัตนสิงห์ มาตั้งที่กรุงอังวะเหมือนแต่ก่อน พระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายเจริญรอยตามพระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญาที่จะสร้างจักรพรรดิ์พม่า โดยเฉพาะพยามจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ โดยกำหนดยกทัพมาตีหัวเมืองไทยทีละขั้น ขั้นแรกให้มังมหานรธาคุมทัพมาตีเมืองทวาย เมื่อปี พ.ศ.2307 แล้วยกทัพไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เมืองระนอง และเมืองอื่นจนถึงเมืองปราณ แต่กองทัพพญาพิพัฒน์ และพระยาตาก (สิน) สามารถสะกัดกั้นข้าศึกไว้ได้ ก่อนที่จะรุดไปถึงเมืองเพชรบุรี กองทัพพม่าต้องถอยกลับไปเมืองตะนาวศรี

ในขั้นต่อมา พระเจ้ามังระตั้งเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพคุมกำลังพลพม่าล้านนาและล้านช้างประมาณ 20,000 คน เคลื่อนจากเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้ ตีหัวเมืองรายทางได้ตามลำดับ ฝ่ายมังมหานรธายกทัพประมาณ 30,000 คน เข้าตีไทยทางเมืองสุพรรณบุรี ผ่านเมืองธนบุรีไปบรรจบกองทัพเนเมียวสีหบดี ที่เขตกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาประมาณปีเศษ แล้วตั้งค่ายล้อมพระนครทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ต่อมาได้ขยายออกไปล้อมไว้หมดทุกด้าน ในระหว่างนั้นมังมหานรธาถึงแก่กรรมเนเมียวสีหบดี ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ามังระให้เป็นแม่ทัพใหญ่แต่ผู้เดียว ในที่สุดก็ตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 หลังจากล้อมอยู่ 1 ปี 2 เดือน

ในระหว่างนั้นพม่าต้องเผชิญการสงครามกับจีนทางด้านยูนนาน กองทัพจีนบุกรุกพม่าสี่ครั้งแตกพ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง พระเจ้ามังระทรงพระพิโรธที่แม่ทัพพม่าปล่อยให้กองทัพจีนล่าถอยกลับไป แม่ทัพเหล่านั้จึงคุมทัพไปตีแคว้นมณีปุระได้ และได้กวาดต้อนชาวมณีปุระหลายพันคนไปยังพม่า

ในปีพ.ศ.2318 พระเจ้ามังระมีพระบัญชาให้ยกทัพมาตีเมืองไทยอีกครั้ง อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพ ก่อนปีนั้นไทยได้รบพม่ามา 8 ครั้งแล้วในสมัยธนบุรี

ในการตีหัวเมืองของไทยอะแซหวุ่นกี้ได้ยกทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์จิงกูจาพระโอรสได้ครองราชย์ และมีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไป

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย