ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มะละกา

เป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมะลายู มีอาณาเขตทิศเหนือจดรัฐเนกรีเซมมิลัน ทิศตะวันออกจดรัฐยะโฮร์ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดช่องแคบมะละกา

มะละกาเป็นเมืองสำคัญทางการค้ามาแต่สมัยโบราณ และเคยเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาก่อน ดังปรากฎในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนหนึ่งว่า "ฝ่ายกระษัตร์ ได้แต่ถวายดอกไม้ทองเงินทั้งนั้น 20 เมือง คือ ...เมืองฝ่ายใต้ เมืองอุยองตะหนะ เมืองมลากา เมืองมลายู เมืองวรวารี..."

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้แต่งกองทัพไปตีเมืองมะละกาครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.1998 เมืองมะละกาเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทอง ในตำนานของโปร์ตุเกสว่าไทยได้ยกกองทัพไปตีเมืองมะละกาเมื่อก่อนโปร์ตุเกสไปถึง

เมืองมะละกาเดิมเป็นหมู่บ้านของชาวมลายูเผ่าชาวเล ซึ่งมีอาชีพทำประมง และเป็นโจรสลัดคอยรังควานการเดินเรือในช่องแคบมะละกา ต่อมาเมื่อราวปี พ.ศ.1944 ชาวชวาจำนวนหนึ่ง มีเจ้าชายปรเมศวร เป็นหัวหน้าได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่เมืองคูมาสิกคือ สิงคโปร์ปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในอาณาจักรมัชปาหิต ในชวาภาคตะวันออก ขณะนั้นเจ้าผู้ครองเมืองตูมาสิกยอกสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรไทย เจ้าชายประเมศวรได้ฆ่าเจ้าผู้ครองเมืองนั้น แล้วยึดอำนาจไว้ได้ ราวปี พ.ศ.1945 ราชาแห่งเมืองปาหัง ซึ่งยอมขึ้นกับอาณาจักรไทย ได้ยกกองทัพไปโจมตีเจ้าชายปรเมศวร จึงพาบริวารหนีไปอยู่ที่หมู่บ้านชาวเล และได้สร้างหมู่บ้านนั้นขึ้นเป็นเมืองชื่อ เมืองมะละกา โดยได้รับความร่วมมือจากพวกโจรสลัด และชาวมลายูที่อพยพมาจากเมืองปาเล็มมังในเกาะสุมาตรา เมืองมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์การค้าทางทะเล

เมื่อทูตจีนไปเยือนเมืองมะละการาวปี พ.ศ.1946 เจ้าชายปรเมศวร จึงถือโอกาสขอให้พระเจ้ากรุงจีนแห่งราชวงศ์เหม็ง รับรองเอกราชของเมืองมะละกา ต่อมาราวปี พ.ศ.1948 เจ้าชายปรเมศวร ได้ส่งทูตไปเจริญทางไมตรีกับจีน พระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์เหม็งองค์ที่สาม พระนามยุงโล ทรงรับรองว่าเจ้าชายปรเมศวร เป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองมะละกา

ราวปี พ.ศ.1952 แม่ทัพเช็งโห ซึ่งคุมกองทัพเรือของจีนไปเยือนเมืองมะละกา และยืนยันว่าเจ้าชายปรเมศวรมีอำนาจอธิปไตยปกครองเมืองมะละกา  แต่กรุงศรีอยุธยายังถือว่า เมืองมะละกาเป็นเมืองประเทศราชของไทยอยู่

ขณะนั้นสุมาตราได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์ เป็นศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวอินเดีย และชาวอาหรับนำมา เจ้าชายปรเมศวร จึงได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์ มาเป็นศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนนามมาคติทางศาสนานั้นว่า เมกิตอีสกานเดอร์ ชาห์ และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง พระธิดาแก่งสุลาต่านรัฐปาไช ที่เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอิสลามไม่นาน ขณะนั้นเจ้าชายปรเมศวรมีพระชนม์ 72 พรรษาแล้ว และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.1987 รายาอิบราฮินผู้เป็นโอรสก็สืบราชสมบัติต่อมา ทรงใช้พระนามว่า ศรีปรเมศวร ชาห์ ซึ่งเป็นพระนามผสมระหว่างคติศาสนาฮินดู กับอิสลาม พระองค์ถูกพวกทมิฬที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีรายากาซิมพระเชษฐาต่างมารดาเป็นหัวหน้าเข้ายึดอำนาจและปลงพระชนม์

รายากาซิมขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ (ราว พ.ศ.1989) ใช้พระนามว่ามุซัฟฟา ชาห์ พระเจ้ากรุงจีนทรงรับรองยุศสุลต่านของพระองค์ นับแต่นั้นมาจึงออกพระนามพระองค์ว่า มุซัฟฟาร์ ชาห์ และเป็นสุลต่านองค์แรกของมะละกา และไม่ยอมขึ้นกับไทย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จต้องถอยกลับ ฝ่ายมะละกายกกำลังไปปราบเมืองปาหัวและเมืองปาไซได้ด้วย ทำให้มะละกาเป็นอาณาจักรหนึ่งของแหลมมลายู

ต่อมาเมืองสุลต่านมุซัฟฟาร ชาห์ สิ้นพระชนม์ สุลต่านมันสุร์ ชาห์ ผู้เป็นโอรสได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมะละกา เมื่อราวปี พ.ศ.2000 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเคร่งครัดมาก ได้สั่งให้ทำลายวัตถุเคารพของศาสนาเดิม คือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เสียสิ้น และได้แผ่อำนาจเข้าไปปกครองเมืองปาหัง แคมปาร์และอินทรคีร์ ต่อมาในปี พ.ศ.2002 ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้ออกญาจักรียกทัพบกมาทางเมืองปาหังเข้าตีเมืองมะละกาแต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ ต่อมาให้ออกญาเดโชยกกำลังทางเรือไปตีเมืองมะละกาอีก ตั้งล้อมอยู่นานแต่ตีไม่ได้ต้องถอยทัพกลับ มะละกาจึงยกทัพไปตีเอาเมืองปาหังกลับคืนมาได้ แล้วแต่งทูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย ฝ่ายไทยซึ่งกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับเชียงใหม่ก็ยอมเป็นไมตรีด้วย แต่ต่อมากองทัพไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปทางเมืองกลันตันเข้าตีเอาปาหังคืนแต่ไม่สำเร็จ จนโปร์ตุเกสเข้ายึดครองมะละกา

ในช่วงสองสุลต่านนี้ มะละกามีอำนาจปกครองรัฐต่าง ๆ คือ ไทรบุรี ตรังกานุ ปาหัง ยะโฮร์ แจมยี, แคมปาร์ อินทรคีรี หมู่เกาะคาริมอนและเกาะชินตัง เมื่อสุลต่านมันสุร์ ชาห์สิ้นพระชนม์ โอรสคือ สุลต่านอาลาอุดดิน รายัต ชาห์ (พ.ศ.2020 - 2030)  และสุลต่านมาหมุด (พ.ศ.2031 - 2054)  อมุชาของสุลต่านอาลาอุดดิน ในสมัยสุลต่านมาหมุด มะละกาเจริญมั่งคั่งถึงที่สุดได้ทำสงครามกับไทยอีกครั้งจนปี พ.ศ.2054 มะละกาก็ตกเป็นของโปร์ตุเกส และโปร์ตุเกสได้เปิดสัมพันธไมตรีกับไทย

โปร์ตุเกสได้ดำเนินการให้มะละกาเป็นเมืองที่เข้มแข็งมั่นคง โดยสร้างให้เป็นเมืองป้อมปราการ เพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือไปยังหมู่เกาะโมลุกกะ สร้างเมืองมะละกาให้เจริญขึ้นเป็นตลาดเครื่องเทศ ทำให้ชาวอาแจ ชาวยะโฮร์ ชาวอังกฤษและชาวฮอลันดิพยายามแย่งชิงผลประโยชน์ต่าง ๆ ของฮอลันดา ในที่สุดในปี พ.ศ.2182 ฮอลันดา ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองปัตตาเลียได้ใช้กำลังทาหรโค่นอำนาจของโปร์ตุเกสที่เมืองมะละกา รวมเวลาที่โปร์ตุเกสปกครองมะละกา 130 ปี

ฮอลันดาปกครองมะละกา มาถึงปี พ.ศ.2367 ก็ต้องทำสนธิสัญญาโอนมะละกาให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเมืองเบนคูเลนในเกาะสุมาตรา และเมืองปันตัมในเกาะชวา รวมเวลาที่ฮอลันดาปกครองมะละกาถึง 183 ปี

อังกฤษได้รวมเกาะปีนังเมืองมะละกา และเกาะสิงคโปร์ เข้าเป็นสเตรตเซตเทิลเมนท์ขึ้นต่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย จนถึงปี พ.ศ.2410 จึงได้โอนไปขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.2500 อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่สหพันธรัฐมลายา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นประเทศมาเลเซีย มะละกาจึงเป็นรัฐหนึ่งของมาเลซีย มาจนถึงปัจจุบัน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย