ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มอญ

หรือที่เรียกว่า รามัญ ตะเลง และ เปกวน (หมายถึง ชาวเมืองพะโค หรือหงสาวดี)  เป็นชนชาติเผ่าพันธุ์หนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก ภาษามอญมีความเกี่ยวข้องกับภาษาเขมร และภาษาท้องถิ่นของเวียดนาม ซึ่งอยู่ในเครืออานัมไมต์ และมีความสัมพันธ์ห่าง ๆ กับภาษาอินโดนิเซีย

พวกมอญ เรียกตนเองว่า รมัน ซึ่งเพี้ยนมาเป็น มอญ แต่พม่าเรียกพวกนี้ว่า ตะเลง ซึ่งมาจากคำว่า ตลิงคานะ อันหมายถึง แคว้นหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวัฒนธรรม ผสมระหว่างฮินดูกับพระพุทธศาสนา พงศาวดารพม่า กล่าวว่า มอญเป็นชนชาติแรก ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสต์กาล

มอญตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้ค่อนไปทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง และมีอาณาเขตแผ่ขยายลงไปทางใต้ ถึงเมืองทะวาย มีศูนย์กลางการเมือง และวัฒนธรรมอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ที่นั้นมีอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนาคือ ทวารวดี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา นครหลวงซึ่งเป็นที่รู้จักแห่งแรกคือ นครปฐม ซึ่งได้พบจารึกภาษามอญ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณปี พ.ศ.1143 นอกจากนครปฐมแล้วยังมีเมืองอื่น ๆ ที่รวมอยู่ในอาณาจักรนี้ด้วย ดังที่ได้พบศิลาจารึกเป็นภาษามอญโบราณเขียนด้วยอักษรปัลลวะของพุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่จารึกวัดพระมหาธาตุ จ.นครราชศรีธรรมราช จารึกวัดโพธิ์ร้าง จ.นครปฐม จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จ.ลพบุรี จารึกถ้ำพระนารายณ์ จ.สระบุรี จารึกเมืองบึงคอกช้าง จ.อุทัยธานี และจารึกที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 - 15 ซึ่งเป็นภาษามอญโบราณใช้รูปอักษรหลังปัลลวะเช่น จารึกเสาแปดเหลี่ยม จ.ลพบุรี จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา จ.ขอนแก่น จารึกพระพิมพ์เผานาดูล จ.มหาสารคาม จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดด และจารึกวัดโพธิชัยเสนาราม จ.กาฬสินธุ์ จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล จ.นครสวรรค์ และที่ จ.ชัยภูมิ

พงศาวดารมอญกล่าวว่า อาณาจักรสะเทิน สร้างก่อนปี พ.ศ.241 โดยพระราชโอรสสององค์ของพระเจ้าติสสะ ผู้ครองแคว้นหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้นำบริวารลงเรือสำเภาล่องมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ จึงตั้งรกรากที่นั่น ให้สร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณอ่าวเมาะตะมะ ตั้งชื่อเมืองว่าสะเทิมหรือสุธรรมวดี อาณาจักรสะเทิมมีกษัตริย์ปกครอง 59 พระองค์

ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่สามถึงต้นพุทธศตวรรษที่สี่ พระเจ้าอโศก ฯ แห่งอินเดียได้ส่งพระโสณะ และพระอุตระมาประกาศพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ซึ่งมอญอ้างว่าเมืองสะเทิมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรนี้

อาณาจักรสะเทิมเจริญรุ่งเรืองมาก รับอารยธรรมอินเดียมาใช้ที่สำคัญคือ อักษรศาสตร์และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมา จึงทำให้มอญมีบทบาทมากที่สุด ในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียให้แก่ชนชาติอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์

ในปี พ.ศ.1375 พวกน่านเจ้าเข้ารุกรานทางตอนเหนือของพม่า และได้ทำสงครามกับอาณาจักรพยุหรือปยุ พวกน่านเจ้าได้กวาดต้อนชาวพยุ ไปเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลือได้ลี้ภัยลงมาทางใต้และมาสร้างเมืองพุกาม มอญได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่คือเมืองหงสาวดีหรือพะโค เมื่อปี พ.ศ.1368

ช่วงปี พ.ศ.1600 - 1830 หงสาวดีอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม พระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ.1587 - 1620)  เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พุกาม และเป็นผู้ตีสะเทิมได้ ในปี พ.ศ.1587 พม่าได้รับการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิชาการต่าง ๆ จากมอญ รวมทั้งรับเอาตัวอักษรมอญไปดัดแปลงเป็นตัวอักษรพม่าเป็นครั้งแรก ศิลาจารึกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าครรชิต กษัตรย์องค์ที่สามของราชวงศ์พุกาม (พ.ศ.1620 - 1627)  ส่วนใหญ่เป็นภาษามอญ

ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรมอญ ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการเริ่มในรัชสมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว (พ.ศ.1830 - 1849)  ในปี พ.ศ.1830 มองโกลยกทัพมาตีพม่าได้ ทำให้มอญเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าฟ้ารั่วได้สถาปนาอาณาจักรมอญอิสระขึ้น มีเมืองเมาะตะมะ เป็นราชธานี และสถาปนาราชวงศ์เจ้าฟ้ารั่วขึ้น หรือที่เรียกกันว่าราชวงศ์หงสาววดีบ้างหรือราชวงศ์ไทยใหญ่บ้าง - ตะเลงบ้าง ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้โปรดให้พระมอญชื่อพระสารีบุตร แปลคัมภีร์พระธรรมศาสนา ที่ได้เค้ามาจากอินเดียเป็นภาษามอญ และให้แปลเป็นภาษาพม่าด้วย ซึ่งไทยได้รับคัมภีร์นี้มาเป็นต้นแบบของกฎหมายไทย ราชวงศ์ฟ้ารั่วปกครองมอญมาจนถึงปี พ.ศ.2082 มีกษัตริย์ปกครองรวม 18 องค์ ที่สำคัญมีดังนี้

1. พญาอู่ หรือพระเจ้าพินยาอุ (พ.ศ.1896 - 1928) พระองค์โปรด ฯ ให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่หงสาวดีตามเดิม
2. พระเจ้าราชาธิราช (พ.ศ.1928 - 1968) ทรงมีอานุภาพมาก ได้แบ่งอาณาจักรมอญออกเป็น 32 มณฑล ทรงรบรับขับเคี่ยวกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง (บินคยอง ) แห่งอังวะเป็นสงครามยาวนานถึงสิบปี มีชาวโปร์ตุเกสเข้ามาติดต่อค้าขายกับมอญ และช่วยมอญสร้างกำแพงเมืองและป้อมคูที่เมืองสิเรียม ซึ่งเป็นเมืองท่า

ต่อมาพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งราชวงศ์ตองอู (พ.ศ.2074 - 2084) ได้ยกกองทัพมาตีมอญได้ในปี พ.ศ.2082 แล้วย้ายราชธานีมาตองอู มาอยู่ที่หงสาวดี

ในปี พ.ศ.2141 เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองอังวะ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง ก่อการจลาจลขึ้น เจ้าเมืองตองอูไปชวนพระเจ้ายะไข่ให้ร่วมมือด้วย พวกยะไข่เผาเมืองหงสาวดี และกวาดต้อนชาววมอญกลับไปยะไข่หลายพันครอบครัว และมอบให้ทหารชาวโปร์ตุเกสควบคุมเมืองสิเรียมไว้ ต่อมากำลังทัพโปร์ตุเกสช่วยมอญขับไล่มหาอุปราชแห่งยะไข่ไปได้ แต่ในที่สุดกษัตริย์พม่าก็ตีเมืองสิเรียมได้ มอญจึงต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีก ถึงปี พ.ศ.2178 พม่าย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่กรุงอังวะ พวกมอญได้ก่อการจลาจลครั้งใหญ่อีก แต่ก็ถูกพม่าปราบได้ จึงพากันอพยพเข้าไทยเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ.2204 รัชสมัยพระเจ้าแปร (ปเย) กษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งราชวงศ์ตองอู พม่าเกณฑ์ชาวมอญจาก 32 เมือง ซึ่งขึ้นนกับเมาะตะมะ ไปช่วยรบป้องกันกรุงอังวะ จากการรุกรานของชาวจีนซึ่งอพยพมาจากยูนนาน มีมอญกลุ่มหนึ่งประมาณห้าพันคน เผาเมืองเมาะตะมะแล้วหลบหนีพม่ามาพึ่งไทย โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามโคกบ้าง คลองคูจามบ้าง ใกล้วัดตองปุบ้าง

ในปี พ.ศ.2283 ไทยใหญ่ก่อการกบฎแล้วสมทบกับชาวมอญ ที่เมืองหงสาวดีซึ่งมีสมิงทอพุทธเกติ เป็นผู้นำ เข้ายึดเมืองสิเรียม และเมืองเมาะตะมะไว้ได้ แล้วยึดได้พม่าตอนล่าง เมืองแปร ตองอู แล้วรุกขึ้นไปตามลำแม่น้ำอิรวดี มุ่งไปสู่เมืองอังวะ แต่ถูกพม่าต้านไว้ สมิงทอสละราชสมบัติ พญากาละตั้งตนเป็นกษัตริย์แทน นำกองทัพมอญรุกขึ้นไปทางเหนือ จนเลยกรุงอังวะตีเมืองอังวะได้ ในปี พ.ศ.2293

หัวหน้าหมู่บ้านมุกโชโบชื่อ อลองเซย่า ได้ซ่องสุมผู้คนรบชนะมอญ แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าอลองพญา ราวปี พ.ศ.2298 ตีได้เมืองแปร เข้ายึดเมืองสิเรียมได้ในปี พ.ศ.2299 และตีเมืองหงสาวดีได้ในปี พ.ศ.2300 สามารถปราบปรามอาณาจักรมอญได้ราบคาบ ได้ฆ่าฟันชาวมอญชนิดทำลายล้างเผ่าพันธุ์ พวกมอญได้หนีไปทางตะวันตก และหนีเข้าไทย ทำให้ไม่มีมอญอยู่ในหงสาวดีถึง 180 ปี พม่าสามารถรวมมอญเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างเด็ดขาด

ตามประวัติศาสตร์ มอญอาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทยเท่านั้น มีการอพยพครั้งสำคัญของชาวมอญ เข้ามาในประเทศไทยถึงเจ็ดครั้ง ในสมัยอยุธยาสี่ครั้ง สมัยรัตนโกสินทร์สามครั้ง ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลางเป็นส่วนใหญ่

มอญ - เขมร เป็นกลุ่มภาษาของชนหลายชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภาษาย่อยกลุ่มหนึ่ง ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มภาษามุนดา กลุ่มภาษานิโคบาร์ และกลุ่มภาษามอญ - เขมร

ลักษณะทั่วไปเป็นภาษาคำติดต่อ แต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาคำโดดคือ ภาษาจีน และภาษาไทย ทำให้มีลักษณะใกล้ภาษาคำโดดมากขึ้น เป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เป็นภาษาที่สร้างคำด้วยการติดต่อคำ การประกอบคำเข้าเป็นวลีและประโยคเป็นลักษณะ ประธาน - กิริยา - กรรม ส่วนขยายของแต่ละส่วนอยู่ข้างหลัง ยกเว้นส่วนขยายของกิริยา ซึ่งจะปรากฎหลังกรรมได้ ภาษาเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยมาก

ชนชาติมอญมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด นับเป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีตัวอักษรใช้ ชนชาติเขมรมีอักษรปรากฎหลักฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบสอง และตัวอักษรของสองชนชาตินี้ได้เป็นต้นเค้า ของตัวอักษรของชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ตัวอักษรไทย ตัวอักษรล้านนา ตัวอักษรธรรม ตัวอักษรพม่า

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย