ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มองโกล

เป็นชนพวกเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโอนอน และเครูเลน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศมองโกเลีย พวกมองโกลเริ่มขยายอำนาจในสมัยเจงกิสข่าน ด้วยความสามารถของประมุข ความสามารถในการขี่ม้าใช้อาวุธบนหลังม้า การจู่โจมข้าศึก และการติดต่อสื่อสาร ทำให้พวกมองโกลขยายอำนาจออกไปกว้างใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีมา จากมหาสมุทรแปซิฟิกถึงทะเลเมดิเตอเรเนียน ในขณะที่มีประชากรไม่เกิน 2,500,000 คน แต่สามารถปกครองจักรวรรดิ์ ที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน ได้ในเวลาไม่ถึงศตวรรษ ทั้งทำให้การติดต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป มีความสะดวกและปลอดภัย

นามเดิมของ เจงกิสข่าน คือ เตมูจิน (พ.ศ.1710 - 1770)  เป็นบุตรของหัวหน้าเผ่ามองโกลเผ่าหนึ่ง เตมูจินสร้างสมอำนาจโดยสร้างความจงรักภักดีส่วนตัว ซึ่งเป้นเรื่องสำคัญของพวกมองโกล และความสามารถในการรบ เนื่องจากพวกมองโกลรบกันเกือบตลอดเวลา เตมูจินได้รับเลือกจากหัวหน้าเผ่ามองโกลทั้งหลาย ให้เป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ.1749 และได้ตำแหน่ง เจงกิสข่าน และว่า จักรพรรดิราช

กองทัพมองโกลได้พิชิตเผ่า และอาณาจักรต่าง ๆ จากแมนจูเรีย ถึงทะเลดำ และพิชิตจีนตอนเหนือจนผ่านกำแพงเมืองจีนลงมา เจงกิสข่านสวรรคตในระหว่างการโจมตีอาณาจักรเซียตะวันตก อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.1770 แม้กระนั้นในปีถัดมา ผู้ปกครองของเซียตะวันตก ก็ต้องยอมจำนน

เจงกิสข่าน แบ่งจักรวรรดิ์ออกเป็นสี่ส่วน ให้กับโอรสที่เกิดกับมเหสีใหญ่ทั้งสี่ ตามประเพณีของพวกมองโกล ต่อมาโอรสและนัดดา ยังขยายอาณาเขตแดนออกไปอีก ในช่วงที่กว้างใหญ่ที่สุด เขตแดนทั้งสี่คือ

1. แคว้นข่าน ของมหาข่าน ในเอเชียตะวันออก
2. แคว้นข่าน แห่งจะฆะได ในเอเชียกลาง
3. แคว้นข่าน แห่งเปอร์เซีย หรืออิลข่าน ในเปอร์เซีย
4. แคว้นข่าน แห่งคิพจัก ในรัสเซีย

ทั้งสี่แคว้นถือว่า ข่านแห่งแคว้นมหาข่าน เป็นประมุขสูงสุด และในระยะแรกถือว่าอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกัน จากนครหลวงคาราโกรัม แต่ต่อมาต่างตั้งตนเป็นอิสระ และหมดอำนาจลงไปในพุทธศตวรรษที่ 20 และ 21

โอรสและนัดดา ของเจงกิสข่านได้ขยายเขตแดนของจักรวรรดิ์มองโกล ให้กว้างใหญ่ต่อไป มหาข่านออกได พิชิตพวกจีนทางตอนเหนือของจีนลงได้ และกุบไล นัดดาของเจงกิสข่านพิชิตอาณาจักรน่านเจ้า ในปี พ.ศ.1796

ในสมัยกุบไลข่าน (พ.ศ.1803 - 1837)  พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรมองโกล จากคาราโกรัม ลงมาที่ต้าตู (มหานครหลวง)  ในปี พ.ศ.1814  พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์แบบจีนขึ้นมาคือ ราชวงศ์หยวนแปลว่า การเริ่มต้นครั้งแรก หรือต้นกำเนิด กุบไลข่านพิชิตราชวงศ์ซ่ง ได้ในปี พ.ศ.1822 ทำให้จักรวรรดิ์จีนอยู่ภายใต้อำนาจของมองโกล โดยสมบูรณ์

กุบไลข่าน ได้ขยายอำนาจมองโกลออกไป ในปี พ.ศ.1817 และ 1824  ได้ส่งกองทัพเรือไปตีญี่ปุ่น แต่ไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง ส่งกองทัพไปตีอาณาจักรพุกามของพม่า โจมตีเวียดนาม และส่งกองทัพเรือไปโจมตีชวา นอกจากนี้ ยังส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ส่งทูตพร้อมบรรณาการไปถวายพระองค์

เมื่อกุบไลข่าน สวรรคตนัดดาของพระองค์คือ ติมุร์ หรือจักรพรรดิ์เฉินจง (พ.ศ.1837 - 1850)  ได้ครองราชย์ต่อมา หลังจากนั้นได้มีจักรพรรดิ์ปกครองต่อมาอีกแปดองค์ ระหว่างปี พ.ศ.1850 - 1876  อำนาจของมองโกลได้เสื่องลงอย่างรวดเร็ว จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายคือ ซุ่นตี่ เกิดกบฎชาวนาขึ้นหลายครั้ง มีการเกณฑ์ราษฎร 150,000 คน มาขุดลอกแม่น้ำเหลือง ราษฎรทุกข์ยาก มีเสียงเรียกร้องให้ก่อการกบฎ แพร่ขยายออกไปในที่สุด ได้มีผู้นำสามารถโค่นราชวงศ์หงวนคือ จู หยวนจาง หรือจักรพรรดิ์หงอู่ ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ.1911

มองโกเลีย ก่อนนี้เรียกว่า มองโกเลียนอก ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง ด้านตะวันออก ทางเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ 1,564,660 ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ อูลานบาตอร์

ในบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 - 1449)  ได้กล่าวถึงพวกมองโกลว่า เป็นนักรบที่เร่ร่อนไปในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของทะเลสาบไบคาล

พวกมองโกล ซึ่งมีเจงกิสข่าน เป็นผู้นำสามารถรวมตัวกันได้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.1748  เจงกิสข่านและข่านองค์ต่อ ๆ มาได้นำจักรวรรดิ์มองโกล ไปสู่ความมีอำนาจทางทหาร มองโกลได้เข้ายึดครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรปตะวันออก ทำให้ดินแดนส่วนต่าง ๆ ภายใต้การยึดครองของมองโกล ได้ติดต่อกันทางการค้า รวมทั้งการติดต่อกันโดยตรงระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรกด้วย จักรวรรดิ์มองโกลเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสุดยอด ในรัชสมัยของกุบไลข่าน (พ.ศ.1759 - 1837)  หลังจาก กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ จักรวรรดิ์มองโกลก็เริ่มเสื่อมลง จีนสมัยราชวงศ์เหม็ง สามารถขับไล่พวกมองโกลออกไปในปี พ.ศ.1911 และดินแดนของพวกมองโกลในตะวันออกใกล้ ถูกพวกออตโตมานเตอร์ก ยึดครอง ทางยุโรปอำนาจของพวกมองโกลก็สิ้นสุดลงด้วย ในปี พ.ศ.2023

ในปี พ.ศ.2187 พวกแมนจู ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแมนจูเรีย ได้เข้าปกครองจีนโดยการยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์เหม็งได้ และตั้งราชวงศ์เช็งขึ้น พวกแมนจูได้รับความช่วยเหลือจากพวกมองโกล กลุ่มที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลทรายโกบี ซึ่งต่อมาดินแดนส่วนนี้เรียกว่า มองโกเลียใน ยังพวกคาลคา ซึ่งเป็นพวกมองโกลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทะเลทรายโกบี ที่เรียกว่า มองโกเลียนอก พวกคาลคาได้ทำสงครามกับพวก แมนจูเรียหลายครั้ง ในที่สุดก็ยอมรับอำนาจการปกครองของแมนจู แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการปกครองท้องถิ่นของตัวเองไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2443 เป็นต้นมา จีนพยายามที่จะเพิ่มอำนาจการปกครองมองโกเลีย ให้มั่นคงกว่าเดิม และพยายามที่จะปกครองมองโกเลีย ในฐานะอาณานิคมเป็นเหตุให้มองโกเลีย หันไปพึ่งรัสเซีย ในปี พ.ศ.2450 ญี่ปุ่นกับรัสเซียได้ทำสัญญาลับต่อกัน มีใจความว่า ญี่ปุ่นยอมรับว่ามองโกเลียนอก เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียยอมรับฐานะของญี่ปุ่นในมองโกเลียใน

ในปี พ.ศ.2454 เกิดการปฎิวัติในจีน พวกมองโกลในมองโกเลียนอก จึงขับไล่จีนออกไป และประกาศเอกราช ต่อมาในปี พ.ศ.2455 ได้ทำสนธิสัญญากับรัสเซีย ให้มองโกเลียนอกเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย และรัสเซียยอมรับว่า มองโกเลียนอก เป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ในปี พ.ศ.2460 เกิดการปฎิวัติในรัสเซีย ญี่ปุ่นจึงเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในมองโกเลียนอก ต่อมาในปี พ.ศ.2462 จีนได้เข้ามาปกครองมองโกเลียนอกอีกครั้งหนึ่ง มองโกเลียนอกจึงกลับไปพึ่งพารัสเซียอีก ถึงปี พ.ศ.2464 กองทัพมองโกล และรัสเซีย ยึดอำนาจจากจีนได้ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่สุดถึงปี พ.ศ.2467 มองโกเลียได้เปลี่ยนการปกครองเป็น ระบอบสังคมนิยม

สภาพทางภูมิศาสตร์  พื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลีย เป็นที่ราบสูง ความสูงเฉลี่ย 900 - 1,800 เมตร รอบ ๆ ที่ราบสูงเป็นภูเขาและที่สูง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมองโกเลีย เป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายโกบี

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย