ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มโหรี

เป็นชื่อวงดนตรีที่มีเครื่องผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่บรรเลงเฉพาะ เพื่อขับกล่อมให้เกิดความรื่นรมย์ ไม่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมหรสพใด ๆ เดิมมโหรีวงหนึ่ง มีสี่คน คือ คนเสียง สำหรับขับร้องลำนำ และตีกรับพวง ให้จังหวะ คนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ และคนตีโทน

ตอนปลายสมัยอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ย และคนตีรำมะนา เพิ่มขึ้นอีกสองคน ต่อมาราวในรัชกาลที่หนึ่ง ได้เพิ่มระนาดไม้ กับระนาดแก้ว ขึ้นอีกสองสิ่ง วงมโหรีจึงมีแปดคนด้วยกัน และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในรัชกาลที่สาม กับรัชกาลที่สี่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า มาจนถึงปัจจุบันได้จัดวงมโหรี โดยมีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงแบบแผนอยู่สามขนาด ดังนี้

วงมโหรีวงเล็ก  ประกอบด้วย
-  ซอสามสายหนึ่งคัน ทำหน้าที่คลอเสียงคนร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
-  ซอด้วงหนึ่งคัน เดินทำนองโดยเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
- ซออู้หนึ่งคัน  ดำเนิทำนองเป็นเชิง หยอกล้อยั่วเย้า ไปกับทำนองเพลง
-  จะเข้ หนึ่งตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
- ขลุ่ยเพียงออ หนึ่งเลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
- ระนาดเอก หนึ่งราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
- ฆ้องวง หนึ่งวง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
- โทน  หนึ่งลูก รำมะนา หนึ่งลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
- ฉิ่ง หนึ่งคู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา

วงมโหรีเครื่องคู่  ประกอบด้วย ซอสามสาย หนึ่งคัน ซอสามสายหลิบ หนึ่งคัน ซอด้วง สองคัน ซออู้ สองคัน จะเข้ สองตัว ขล่ยเพียงออ หนึ่งเลา ขลุ่ยหลิบ หนึ่งเลา ระนาดเอก หนึ่งราง ระนาดทุ้ม หนึ่งราง ฆ้องวง (มโหรี) หนึ่งวง ฆ้องวงเล็ก หนึ่งวง โทน หนึ่งลูก รำมะนา หนึ่งลูก ฉิ่ง หนึ่งคู่
- วงมโหรีเครื่องใหญ่  ประกอบด้วย เครื่องดนตรีทุกอย่าง มีจำนวนเท่ากับวงมโหรีเครื่องคู่ หากแต่เพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองอย่างคือ
- ระนาดเอกทอง หนึ่งราง วิธีดำเนินทำนองเหมือนระนาดเอก แต่มิได้เป็นผู้นำวง
- ระนาดทุ้มทอง หนึ่งราง ดำเนินทำนองคล้ายระนาดเอก แต่เดินทำนองห่าง

ส่วนฉาบ และโหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เมื่อเห็นสมควรจะนำมาผสมด้วย ก็เพิ่มเติมได้ ทั้งสามวง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย