ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มหาสมุทร

คือ พื้นผิวน้ำเค็มขนาดมหึมา แผ่ตามผิวโลกถึงสามในสี่ส่วน ความจริงพื้นมหาสมุทรเป็นผืนน้ำผืนเดียว ที่ติดต่อถึงกันหมด โดยที่ซีกโลกเหนือ มีส่วนพื้นน้ำร้อยละ 61 และซีกโลกใต้มีพื้นน้ำร้อยละ 81 แต่เราเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของห้วงน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ว่า มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก

ท้องทะเล และมหาสมุทร มีความจุประมาณ 1,360 ล้านลูกบาศก์ กิโลเมตร และมีพื้นผิวประมาณ 361 ล้านตารางกิโลเมตร ท้องทะเลมีความลึกเฉลี่ย 3,790 เมตร ตำแหน่งลึกที่สุดของมหาสมุทรอยู่ที่ มาเรียนาเทรนซ ระหว่างเกาะกวม กับเกาะแย็ป ลึกประมาณ 10,850 เมตร

สัณฐานของพื้นท้องมหาสมุทร  อาจแบ่งออกได้เป็นสามประเภทใหญ่ และแต่ละประเภทประกอบด้วยภูมิประเทศย่อย ๆ ออกไป ดังนี้

1. ขอบทวีป  เริ่มจากบริเวณไหล่ทวีป ที่เป็นชายหาด และเปลี่ยนระดับตามลักษณะน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งค่อย ๆ ลาดเอียงยื่นออกไปจากฝั่ง ถึงระดับความลึกประมาณ 180 เมตร ถ้าชายฝั่งเป็นภูเขา ไหล่ทวีปจะแคบ ถัดจากไหล่ทวีปลงไป เป็นลาดทวีป ซึ่งมีความลึกสูงสุดที่ระดับ 4,000 เมตร และถัดจากนี้ลงไปเรียกว่า ลาดตีนทวีป ซึ่งมีความลึกต่างกัน ส่วนที่สูงเหนือผิวน้ำ เรียกว่า เกาะ ส่วนที่ลึกเรียกว่า ร่องลึกบาดาล

2. พื้นท้องทะเล  ประกอบด้วยพื้นราบขั้นบาดาล ภูเขาใต้น้ำและภูเขายอดราบ ที่ราบสูงใต้ทะเล และหมู่เกาะรูปโค้ง พื้นราบขั้นบาดาล มีขนาดแผ่กว้างในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนในแปซิฟิกมีน้อย ที่ราบใต้ทะเลเหล่านี้ ต่อเนื่องกันด้วยหุบเขาผาชัน ใต้ทะเล หรือร่องลึกที่รับตะกอนจากตัวทวีป ท้องมหาสมุทรแปซิฟิก เต็มไปด้วยภูเขาใต้น้ำ อันเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ

3. สันเขาใต้น้ำกลางสมุทร  ประกอบด้วย สันเขาเหลื่อมซ้อนกัน มีทั้งหุบเขาทรุดใต้น้ำ และหุบเขาใต้น้ำ

สมบัติของน้ำทะเล  น้ำทะเลประกอบด้วย สารละลายอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ได้แก่ เกลือแร่ต่าง ๆ และแก๊ส ที่ละลายน้ำได้ อุณหภูมิของผิวน้ำทะเล แตกต่างกันไปตามแนวเส้นรุ้ง ฤดูกาลและปัจจัยอื่นอีกมาก อุณหภูมิของน้ำทะเลลึก ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และกลางวันกับกลางคืน มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บความร้อนมหาศาล จึงเป็นตัวควบคุมปริมาณความร้อน ในบรรยากาศด้วย  ลดความรุนแรงของอากาศ และรักษาระดับสมดุลของอุณหภูมิด้วย

กระแสน้ำ คลื่น และน้ำขึ้นลง  เกิดจากอิทธิพลของแรงสามประการคือ แรงที่เกิดจากพลังความร้อนของดวงอาทิตย์ แรงที่เกิดจากการหมุนของโลก และแรงที่เกิดจากลมประจำ และลักษณะชายฝั่งของแต่ละทวีป

สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร  เริ่มวงจรกันด้วยพืชน้ำขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ล่องลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ เพราะจำเป็นต้องใช้แสงแดด เพื่อการดำรงชีวิต และขยายจำนวนพืชเหล่านี้ จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนที่ใหญ่กว่าจะกินสัตว์เล็กเป็นอาหาร จากระดับผิวน้ำจนถึงความลึกประมาณ 200 เมตร ซึ่งยังพอจะมีแสงส่องถึง จึงถูกจัดเป็นระดับที่พืช และสัตว์ทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย