ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มหายาน

เป็นชื่อลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาจริยาวาท คู่กับลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ซึ่งเรียกชื่อว่า หินยาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เถรวาท

พระพุทธศาสนามหายานแยกออกจากกลุ่มพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ตามแนวความคิดใหม่ของกลุ่มพระภิกษุชาววัชชี เมื่อก่อนการสังคายนาครั้งที่สอง ภายหลังพุทธปรินิพพานราว 100 ปี ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ก็คือ พระพุทธดำรัสแก่พระสงฆ์สาวก ก่อนพุทธปรินิพพานได้แก่ เรื่องมหาปเทศสี่ หรือหลักธรรมเรื่องให้พิจารณาความควร และไม่ควรของการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้ว่า "ในกาลต่อไปหากภิกษุสงฆ์มีความจำนงจะถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อย อันใดอันหนึ่ง ตามควรแก่กาละเทศะ ที่จะพึงปฏิบัติก็ให้ทำได้ อาศัยพระพุทธานุญาตินี้ ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ในหลักธรรม และความมีศีลาจารวัตรแตกต่างกันออกไป

ปัจจัยหลักข้างต้นเป็นเหตุให้เกิดแนวความคิดใหม่ในกลุ่มของภิกษุชาววัชชี คือร่วมกันแก้ไขพุทธบัญญัติละเมิดพระวินัยสิบข้อ มีการฉันอาหารในเวลาวิกาล จับต้องเงินทอง ดื่มเครื่องดองของเมา เป็นต้น เป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่ คือ พระยสกาชาวเมืองปาฐาร่วมประชุมสงฆ์ยกขึ้น สัมมนาพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี เพื่อระงับอธิกรณ์ แต่กลุ่มภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับผิด ได้แยกพวกออกไปประกาศสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นใหม่เป็นมหาสังคีติ ประกาศเรียกชื่อพวกตนเองว่า มหาสังฆิกะ คือกลุ่มใหญ่ หรือพวกมากใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลักจารึกคัมภีร์ กลายเป็นต้นเหตุใหญ่ มีแนวความคิดแตกแยกออกไปอีกกว่าสิบกลุ่ม นิกายกลายเป็นพระพุทธศาสนอย่างใหม่คือ มหายานแปลความหมายว่า พาหนะใหญ่สามารถขนสรรพสัตว์ให้ออกจากกองทุกข์ได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในภายหลังเป็นสาเหตุแปรเปลี่ยนหลักพระธรรมวินัย ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าแพร่หลายออกไป โดยได้รับอุปการะจากกษัตริย์ ผู้ทรงอำนาจของชมพู ทวีปอีกหลายองค์ เช่น พระราชากนิษกะแห่งบุรุษปุระ จึงเป็นผลให้นานาทรรศนะแพร่หลายออกไป มีหลักปฏิบัติสำคัญที่พึ่งกำหนด เปรียบเทียบได้โดยสังเขป คือ

เรื่องพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายาน

ก. พระเถระอาทิพุทธ เป็นสยัมราทรงเกิดเอง เป็นมาพร้อมกับโลก ด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธ ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าอื่นคือ พระธยานิพุทธ ห้าพระองค์ได้แก่ พระไวโรจนะ พระอักโษภยะ พระรัตนสมภพ พระอมิตาภะ และพระอโฆสิทธิ และมีพระธยานิโพธิสัตว์อีกห้าองค์ คือ พระสมันตะภัทร พระวัชรปาณี พระรัตนปาณี ปัทมปาณี หรือพระอวโลกิเตศวร และพระวิศวปาณี พระธยานิพุทธ และธยานิโพธิสัตว์ เหล่านี้เกิดมาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ และรักษาพระศาสนาด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเช่นเดียวกัน

ข. พระพุทธเจ้ามีสองประเภทคือ พระมานุสสพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติเป็นมนุษย์ เช่น พระสมณโคตมประเภทหนึ่ง และพระธยานิพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าที่เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้าอีกประเภท หนึ่ง

ค. พระพุทธเจ้า (ผู้ตรัสรู้) มีมากมายเหลือจะนับได้เหมือนจำนวนทรายในแม่น้ำคงคา ทรงอุบัติมาแล้วในอดีตอันหาที่สุดมิได้ (ปรากฎมีกว่าล้านองค์อ้างบทสวดสัมพุทธเธ)

ง พระพุทธเจ้า (มานุสสพุทธ) มีพระสมณโคตมเป็นต้นมีพระกายสามคือ ธรรมกาย ได้แก่ ภาระหรือสารัตถะแห่งการตรัสรู้กล่าวโดยสังเขปคือ พระธรรมที่ตรัสรู้ สัมโภคกาย กล่าวโดยสังเขปได้แก่ พระธรรมที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ หรือการบำเพ็ญธรรมของพระโพธิสัตว์ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน นิรมานกาย คือร่างกายของมนุษย์ธรรมดา ประกอบด้วย ขันธ์ห้า ตกอยู่ในอำนาจการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ร่างนั้นสามารถเนรมิตเป็นรูปใดรูปหนึ่งได้ด้วยอำนาจฌานของพระมานุสสพุทธ

เรื่องของพระธรรม 

มีแนวความคิดแตกต่างหนักเบากว่ากันเป็นส่วนสำคัญ คือ ฝ่ายมหายานเห็นว่า

ก. พระธรรมสำคัญกว่าพระพุทธ โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมว่า มีฐานะสูงกว่าพระองค์ทรงเคารพพระธรรม และทรงยกพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์

ข.พระธรรมสำคัญกว่าพระวินัย หลักการของฝ่ายมหายาน มีว่าพระธรรมมีอยู่คู่กับโลก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระธรรมแล้ว ทรงสอนให้พุทธสาวก ปฏิบัติตามพระธรรม ขณะใดที่พุทธสาวกมิได้ปฏิบัติธรรม ตามธรรมก็ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นเป็นข้อห้าม มหายานเน้นหนักว่าคนใด หรือกลุ่มใดปฏิบัติตมพระธรรมแล้ว ชนเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสุขสงบเสมอไป ความไม่มีวินัยในกลุ่มชนมาจากเหตุอันเดียวคือ ปราศจากธรรม

ค. พระธรรมที่เป็นอาทิธรรม ฝ่ายมหายานอ้างเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ตั้งพระเมตตาเป็นปุเรจาริก ใคร่จะทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้แก่มหาชน แต่เมื่อทรงพิจารณาถึงความลุ่มลึกของพระธรรมอันยากที่ผู้อื่น จะรู้ตามได้ก็ทรงท้อพระทัย แต่เมื่อทรงใช้พระปัญญาพิจารณาเห็นว่า มนุษย์มีปัญญาสี่ระดับเหมือนดอกบัวสี่เหล่า จึงทรงตัดสินพระทัยสั่งสอนนิกรชน พระพุทธจริยาดังกล่าวนี้ เมตตาคุณจึงเป็นอาทิธรรมคือ ธรรมแม่บทมี ปัญญาคุณเป็นธรรมคู่ประกอบเป็นกำลัง ยังพระวิสุทธิคุณให้ปรากฎ

สำหรับเรื่องของพระสงฆ์ คำว่า พระสงฆ์ ไม่นิยมเรียกในฝ่ายมหายาน เพราะไม่ต้องรับพิธีกรรม เช่น ฝ่ายเถรวาท ไม่มีการปฎิบัติตามภาวะของพระภิกษุ เหมือนฝ่ายเถรวาท จึงควรเรียกอย่างได้เพียงนักบวช นักบวชฝ่ายมหายานแตกต่างจากเถรวาทอย่างมกา อีกประการหนึ่งคือ นักบวชมีครอบครัวได้ อันมีมูลเหตุมาจาก

ก. การบำเพ็ญโพธิสัตว์จริยา ฝ่ายมหายานกำหนดว่า ผู้ปฎิบัติธรรมจะต้องบำเพ็ญโพธิสัตว์ธรรมคือ มี เมตตา (พรหมวิหาร) เป็น อัปปมัญญา คอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ก่อน จึงช่วยเหลือตนเอง โพธิสัตว์จะอยู่ในเพศใด วัยใดก็ได้ ถ้าอยู่ในเพศฆราวาส บำเพ็ญบารมีหก ส่วนพระโพธิสัตว์ที่ออกบวชบำเพ็ญบารมีสิบ (ดู โพธิสัตว์ - ลำดับที่...) ความเชื่อนี้ ทำให้เกิดหลักคำสอน เกี่ยวกับโพธิสัตว์ฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นศักติของโพธิสัตว์ฝ่ายชายขึ้นในนิกายพุทธตันตระ (พุทธผสมฮินดู)

ข. ในประวัติศาสตร์จีน แผ่นดินพระเจ้าเหยาซิว (พ.ศ.936 - 958) บัณฑิตคนหนึ่งชื่อ กุมารชีพ (พ.ศ.887 - 956 ตระกูลพราหมณ์ เกิดในเอเชียกลางแคว้นกุจา หรือกษะ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ออกบวชศึกษาธรรมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ มีชื่อเสียงมาก จักรพรรดิ์จีนต้องการตั้งไว้เป็นกำลัง มีสาสน์ขอไปยังผู้ครองแคว้นในเอเชียกลางไม่สำเร็จ จึงส่งกองทัพเข้าตีได้ตัว กุมารชีพมายังเมืองชางอาน ท่านตั้งหน้าเรียนภาษาจีนจนแตกฉาน แปลพระคัมภีร์มหายาน จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้มากกว่านักบวชชมพูทวีปรูปใด ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน ครั้น กุมารชีพล่วงเข้าวัยชรา จักรพรรดิ์จีนเกรงว่า ต่อไปจะหาผู้ปัญญาเป็นกำลังของแผ่นดินและพระศาสนาไม่ได้ จึงได้ใช้อุบายให้ท่านมีลูกไว้สืบเชื้อสาย จึงให้ส่งน้ำเมาเข้าไปในกุฎิ พร้อมหญิงสาวสวยถึงสิบคน ในที่สุดกุมารชีพต้องล่วงศีล แต่ไม่ยอมเปลื้องผ้ากาสาวพัตร นักบวชจีนในชั้นต้น และนักบวชมหายานส่วนใหญ่ ในภายหลังได้ตัวอย่างจากกุมารชีพ ทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้

ค. เรื่องเกิดจากตัวอย่างในประเทศจีนอีกเรื่องหนึ่งมีว่า ในสมัยแผ่นดินราชวงศ์ถัง ที่วัดเส้าหลิน อารามหลวงในนครลกเอี๋ยง เป็นสำนักศูนย์กลางของ "เซน" ซึ่งเป็นที่มาของยุทธจักรกำลังภายใน ในสมัยราชวงศ์นี้ มีการขบถแย่งชิงราชสมบัติอยู่หลายคราว แต่ละคราวจักรพรรดิ์จีนได้ใช้กำลังของนักบวช วัดเส้าหลิน ซึ่งยอมเสียสละพระวินัยมาใช้ชีวิตเหมือนผู้ครองเรือน เข้าปราบขบถเมื่อเสร็จงานแล้ว ก็กลับไปบำเพ็ญสมณธรรมตามเดิม จักรพรรดิ์จีนจึงสนองคุณด้วยการอนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสได้

ฆ. เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จากประเทศจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นก็ได้ตัวอย่างของจีน มาเป็นแนวทางปฎิบัติ ทั้งส่วนที่เป็นหลักปฎิบัติโดยตรง และส่วนที่มองเห็นสัจธรรม ในหลักการที่ว่า การปฎิบัติธรรมสำคัญกว่า มีผลกว่าการทนรักษาพระวินัย โดยปราศจากธรรม

ง. ทางมาของนักบวชมีครอบครัว อาจมีความเป็นไปได้จากการผสมระหว่างหลักการ "ธรรมสำคัญกว่าวินัย" กับคำสอนของเจ้าชายโชโตกุ (พ.ศ.1139 - 1172) มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ผู้ประกาศรัฐธรรมนูญสันติภาพไว้ 17 มาตรา ความในธรรมนูญให้บูชาพระรัตนตรัย มีคำสอนแบบฉบับของการปฎิบัติธรรม ปฎิเสธการแยกกลุ่มระหว่างเถรวาท กับมหายาน ให้มารวมเป็น "เอกยาน" มีธรรมกายเป็นหลักยืน ไม่มีการแบ่งแยกการปฎิบัติธรรม ระหว่างนักบวชกับผู้ครองเรือน ไม่ต้องเพศ นิกาย

จ. ต่อมามีวิวัฒนาการเป็นทางมาของนักบวช มีครอบครัวได้ ซึ่ง โฮเนน โชนิน ผู้ตั้งนิกายโยโดชินชู หรือนิกายสุขาวดี ปฎิรูปหลักปฎิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมาศิษย์ของโฮเนน คือ ชินรัน  ประกาศหลักปฎิบัติขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ฮิโซอิโซกุ แปลว่า ไม่มี นักบวชไม่มีผู้ครองเรือน มีแต่ผู้ปฎิบัติธรรม ชินรัน โชนิน มีครอบครัวเหมือนผู้ครองเรือนทั่วไป คำสอนและการปฎิบัติของชินรัน มีผู้พอใจ เพราะง่ายต่อการปฎิบัติ กลุ่มของชินรัน เป็นกลุ่มมหายานที่แพร่หลายที่สุด ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน

ฉ. เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคฟื้นฟูระบบจักรพรรดิ์ในสมัยเมจิ (พ.ศ.2411 - 2455) จักรพรรดิ์ทรงประกาศรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2432 ให้เสรีภาพการนับถือศาสนา ในปี พ.ศ.2432 ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา

เรื่องปฎิญญา  (โพธิสัตว์จริยา) ของโพธิสัตว์ ก่อนบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ไม่มีฝ่ายเถรวาท แต่มีเป็นหลักปฎิบัติในฝ่ายมหายาน ผู้บำเพ็ญธรรม กล่าวปฎิญญา หรือตั้งปณิธานต่อหน้าอาจารย์แล้ว ลงมือบำเพ็ญบารมีเป็น โพธิสัตว์จริยาฐานแรกแห่งการปฎิบัติธรรม ของพระโพธิสัตว์
เรื่องการตรัสรู้ธรรม
  ดำเนินตามหลักโพธิสัตว์มรรค ของนาคารชุน นักปราชญ์ผู้ใหญ่ฝ่ายลัทธิมาธยามิกะ ได้วางหลักแห่งการทำตนให้หลุดพ้นไว้ดังนี้

1.  ดำเนินตามมรรคแปด
2.  ดำเนินตามหลักฌานสมาบัติ (หลักของนิกายเซน) เพื่อค้นหาความจริงตามพระธรรม
3.  ส่งจิตให้เข้าสู่ความลึกลับของจักรวาลชีวิต ฯลฯ ตามหลักของนิกายมนตรยาน
4.  ดำเนินตามหลักศรัทธายังประโยชน์ให้สำเร็จคือ ศรัทธาในพระพรของพระพุทธเจ้า ตามหลักของนิกายโยโดชินชู (นิกายสุขาวดี หรือนิกายชิน (นิกายศรัทธา)

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย