ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มหาชาติ

เป็นคำที่ใช้เรียกเรื่องเวสสันดรชาดก และเรียกการเทศน์เวสสันดรชาดกว่า เทศน์มหาชาติ มหาชาติ หมายถึง พระชาติ (การเกิด) อันยิ่งใหญ่  เพราะว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งได้เสวยพระชาติในกำเนิดของพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงบำเพ็ญทานอันเป็นบารมี สูงสุด ทรงบำเพ็ญบารมีสิบครบบริบูรณ์ในพระชาตินี้

เรื่องมหาชาติเดิมแต่งเป็นคาถาภาษาบาลีมีจำนวนหนึ่งพันคาถา ในสมัยก่อนพุทธศาสนิกชนชาวไทย ก็คงจะใช้คัมภีร์ชาดกภาษาบาลีเทศน์ และสวดกันเรียกว่า เทศน์คาถาพัน  ต่อมาจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษาไทย และมีการแต่งเป็นร้อยกรองจนเกิดมีมหาชาติในพากย์ภาษาไทยสำนวนต่าง ๆ หลายสำนวน และแบ่งเป็นหลายตอน แต่ละตอนเรียกว่ากัณฑ์มีทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ คือทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนปเวสน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์

หนังสือมหาชาติฉบับแปลเป็นภาษาไทยที่จัดว่าเก่าแก่ที่สุดคือ มหาชาติคำหลวง แต่งโดยนำคาถาภาษาบาลีบาทหนึ่งมาเป็นบท ตั้งแล้วแปลเป็นคำร้อยกรองภาษาไทยวรรคหนึ่ง สลับกันไป แต่งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2025 ส่วนมหาชาติที่ใช้เทศน์กันอยู่ทุกวันนี้เป็นมหาชาติกลอนเทศน์ แต่งโดยวิธีนำทั้งคาถา และอรรถกถาภาษาบาลีมาตั้งไว้แล้ว แต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาวต่อ

การเทศน์มหาชาติแต่เดิมไม่ปรากฎหลักฐานว่า นิยมมีเทศน์ในฤดูกาลใด แต่ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จำเป็นต้องมีทุกปีจะขาดเสียมิได้ ปัจจุบันในกรุงเทพ ฯ นิยมมีเทศน์มหาชาติ เมื่อเทศกาลจะออกพรรษา ส่วนตามหัวเมืองมีเทศน์เมื่อออกพรรษาแล้ว การเทศน์มหาชาติที่ครบพิธีจะต้องเทศน์คาถาพันก่อนแล้วจึงเทศน์มหาชาติจบแล้ว จึงมีเทศน์อริยสัจ ดังนั้นการมีเทศน์มหาชาติ จึงมักใช้เวลาอย่างน้อยสามวัน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย