ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มรสุม

เป็นชื่อเรียกชนิดของลมตามศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับซึ่งแปลว่าฤดู ปัจจุบันคำว่ามรสุมหมายถึงลมประจำฤดู ซึ่งบริเวณที่มรสุมพัดปกคลุมอยู่ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลในเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงจากทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก มาทางฝั่งตะวันออก  ปกคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดียทะเลอาระเบียน ประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีน ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก

สาเหตุพื้นฐานของการเกิดมรสุม เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิประจำปี ระหว่างพื้นดินของทวีปกับพื้นน้ำของมหาสมุทร ทำให้เกิดความแตกต่างของความเกิดอากาศที่ปกคลุมพื้นดิน และพื้นน้ำมวลอาการจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง และมีความกดอากาศต่ำกว่า การเคลื่อนตัวของมวลอากาศนี้  ก่อให้เกิดการพัดของกระแสลมคล้ายลักษณะการเกิดลมบก ลมทะเล ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งมรสุมออกได้เป็นสองชนิด คือ

1. มรสุมในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ

สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมีนาคม ผืนแผ่นดินในบริเวณตอนเหนือของเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงของซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิลดลง และมีความกดอากาศสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลทรายสะฮาราในเอเชียกลาง และในไซบีเรียทั้งควาากดอากาศสูงขึ้น และแผ่มวลอากาศลงมาทางใต้เข้าสู่บริเวณเขตร้อน และบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้ ซึ่งมีอุณหภูมิสูง เนื่องจากได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่ ทำให้เกิดบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน ในทะเลทรายกาลาฮารีของทวีปแอฟริกา ในมหาสมุทรอินเดียในตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ดังนั้นจึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกเหนือ ลงมาทางใต้เรียกกันว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

2. มรสุมในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ

สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ผืนแผ่นดินในบริเวณเขตร้อนของซีกโลกเหนือ และบริเวณใกล้เคียง มีอุณหภูมิสูงขึ้น  เนื่องจากได้รับรังสีความร้อน จากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่ ทำให้เกิดเป็นบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน  ในทะเลทรายสะฮารา ในเอเชียกลางในปากีสถาน และอินเดียตอนเหนือ และในประเทศจีนตอนใต้ มวลอากาศในบริเวณดังกล่าวข้างต้นนี้จะลอยตัวขึ้น และถูกแทนที่โดยมวลอากาศที่พัดมาจากบริเวณเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงเส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้ ซึ่งมีอุณหภูมต่ำ และมีความกดอากาศสูงที่เห็นได้ชัดเจน ในทะเลทรายกาลาฮารี ในมหาสมุทรอินเดีย ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และในทวีปออสเตรเลีย ดังนั้น จึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกใต้ขึ้นไปทางเหนือ  ทำให้เกิดเป็นมรสุมในฤดูร้อน ของซีกโลกเหนือเรียกกันว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

มรสุมจะมีอิทธิพลปรากฎเด่นชัดมากที่สุดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ พม่า ไทย และคาบสมุทรอินโดจีน เพราะมีความแตกต่างในภูมิประเทศที่เป็นผืนแผ่นดิน และพื้นน้ำอย่างชัดเจน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย