ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

นางมโนราห์

เป็นชื่อนางเอกในเรื่องสุธนชาดก อยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งมักจะเรียกกันว่า คัมภีร์ชาดกนอกนิบาต เพราะมิได้อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์ปัญญาสชาดกนี้กล่าวกันว่า พระเถระชาวล้านนา ได้ให้บรรดาศิษย์ของท่านแต่งขึ้นไว้เป็นภาษาบาลี ในนครเชียงใหม่ เมื่อราวปี พ.ศ.2000

ที่ระเบียงปูชนียสถานบุโรพุทโธในประเทศอินโดนีเชีย มีแผ่นภาพศิลาจำหลักเรื่องสุธนมโนราห์ แต่ดำเนินเรื่องตามสุธนาวตานในคัมภีร์ทิวยาวทาน

เนื้อเรื่องของนางมโนราห์ในสุธนชาดกนี้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแทบทุกประเทศ และนำไปปรับปรุงแสดงให้ประชาชนชมก็มาก โดยเฉพาะประเทศไทยภาคกลาง ได้มีบทละครเรื่องมโนราห์ฉบับกรุงเก่าปรากฎอยู่ แต่งเป็นกลอนแบบที่จะต้องร้องตามทำนองละครที่เรียกว่า "ชาตรี"

ส่วนในภาคใต้ของไทยกล่าวว่า เรื่องมโนราห์เป็นเรื่องแรกที่แสดงเป็นละคร และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงเรียกการแสดงนี้ว่า "มโนราห์" ถือว่าเป็นมหรสพสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภาคใต้

มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้มีแม่บทท่าร่ายรำ อย่างเดียวกับละครชาตรี โนราก็ว่าเขียนว่ามโนราห์ก็มี

คำว่า มโนราห์เป็นคำที่คนภาคใต้รู้จัก และใช้เรียกกันในชั้นหลัง แต่เดิมเรียกว่า ชาตรี ต่อมาเมื่อรับเอาเรื่องนางมโนราห์ในสุธนชาดกมาแสดงและคนนิยมมาก จนเรียกการแสดงนี้ว่า มโนราห์ แต่บางที่เรียกควบกันว่า มโนราห์ชาตรี

คำว่า ชาตรี มีความหมายตรงกับละครเร่ คือ เที่ยงรำเที่ยงร่อนไปตามที่ต่าง ๆ เดิมไม่มีเวทีหรือโรงอย่างทุกวันนี้

 แม่บทท่ารำของมโนราห์ชาตรีมีสิบสองท่า แล้วขยายเป็นท่าแม่ลายต่าง ๆ อีกมากมายตามวิวัฒนาการทางศิลปะ ในตำราฟ้อนรำฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีบทกลอนแสดงแม่บทท่ารำไว้ถึง 68 ท่า  ซึ่งมโนราห์ชาตรีของภาคใต้ ยังใช้รำอยู่จนบัดนี้

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย