ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พระมนู

เป็นนามสมมุติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างมนุษยชาติความคติของชาวฮินดูโบราณ ชาวฮินดูนับถือมนูว่า เป็นผู้ปกครองโลกด้วยมีรวมทั้งหมด 14 องค์ ช่วงเวลาขององค์หนึ่ง ๆ เรียกว่า "เมนวันดร" เป็นเวลายาวนานกว่าสี่ล้านปี องค์แรกชื่อว่า พระสยายมภูวะ ถือว่าเป็นผู้ออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ตราบเท่าวันนี้

ยุคที่กำลังเป็นอยู่นี้เป็นยุคของมนูองค์ที่เจ็ด เมื่อสิ้นยุคขององค์ที่สิบสี่แล้ว โลกจะถึงกาลอวสาน มอดไหม้ไปกับไฟประลัยกัลป์ คัมภีร์พระเวทยกย่องมนูว่าเป็นต้นพิธีบูชายัญ โดยพระเจ้าประทานไฟแก่เขา เพื่อการบูชา มีเรื่องเล่าว่า ปลาตัวหนึ่งชื่อมนูมีบุญคุณต่อมันได้บอกให้มนูทราบว่า น้ำจะท่วมโลก มนุษย์จะตายหมดทั้งโลกให้มนูสร้างเรือไว้ใช้ เมื่ออุทกภัยมาถึงมนูจึงสร้างเรือใหญ่ขึ้นลำหนึ่ง พอน้ำท่วมโลก มนูได้ผูกเรือไว้กับครีบหลังของปลาตัวนั้น ปลานั้นได้จูงเรือพามนูไปพำนักอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่งโดยปลอดภัย มนุษย์ก็ถูกน้ำท่วมตายหมดทั้งโลก มนูจึงได้ทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าขอให้ประทานมนุษย์แก่โลก มนูได้เทนมเปรี้ยว และเนยลงในมหานที หลังจากนั้นหนึ่งปี ได้เกิดมีสตรีคนหนึ่งเรียกว่า บุตรสาวมนู ชายหญิงคู่นี้เองเป็นผู้สร้างมนุษยชาติขึ้นมาใหม่ในโลก

ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่าปลาตัวนั้นก็คือ พระพรหม ซึ่งคัมภีร์ปุราณะ กล่าวว่า พระวิษณุแบ่งภาคมาเกิด มนูตามคัมภีร์พระเวท จึงมีลักษณะคล้ายกับโนอา ในคัมภีร์เยเนซิสของศาสนาคริสต์ ซึ่งกล่าวถึงน้ำท่วมโลก ท่วมสรรพสิ่งที่มีชีวิตตายหมด เว้นแต่ครอบครัวของโนอา กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่โนอาเลือกรับใส่เรือไว้สืบเผ่าพันธุ์

มนูปรากฎในกฎหมายเก่าของไทยในชื่อว่า "มนูสาร" หรือ มโนสาร ไทยถือว่าเป็นผู้แต่งกฎหมาย คำมนูตามตำรากฎหมายไทยก็ถือคติตามชาวฮินดู

มนูธรรมศาสตร์  เป็นชื่อกฎหมายฉบับหนึ่งของฮินดู ซึ่งเชื่อกันว่าเทพเจ้าที่มีบาปว่า มนู เป็นผู้แต่งเรียกว่ามนูสัมฤติ มีมานับพันปี จนสืบสาวหาเค้าเงื่อนที่แท้จริงไม่ได้ เป็นกฎหมายที่แสดงหลักความยุติธรรม ที่มีชื่อเสียงที่สุด ในบรรดาประมวลกฎหมายฮินดูที่เรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ และเป็นกฎหมายที่เป็นแบบอย่างของกฎหมายโบราณ ทั้งหลายในแหลมอินโดจีน ตลอดถึงอินโดนีเชีย

กฎหมายฉบับนี้เห็นกันว่าแต่งขึ้นหลังพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ.350  เป็นตำรากฎหมายที่สืบเนื่องมาจาก ตำรากฎหมายอื่นหลายฉบับที่มีมาก่อน เนื้อหาของมนูธรรมศาสตร์ และของตำราฉบับอื่นที่กล่าวมานั้นมิได้มีบทบัญญัติอันเป็นกฎหมาย แต่ประกอบด้วย หลักธรรมในศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ถึงกับถือกันว่า การศึกษากฎหมายมนูธรรมศาสตร์ เป็นการศึกษาคัมภีร์พระเวท ส่วนหนึ่งคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ จึงเริ่มด้วยตำนานกำเนิดของโลกเยี่ยงตำนานทางศาสนาทั้งหลาย แบ่งเป็นสิบสองบรรพ มีตัวกฎหมายที่แท้จริงคือ กฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งอยู่เพียงสองบรรพ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย