ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ภูเขา

คือพื้นที่ดินส่วนที่สูงขึ้นมาจากบริเวณรอบ ๆ และมีความลาดชันมากความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขามากกว่า 600 เมตรขึ้นไป ไหล่เขาของภูเขาสูงใหญ่จะทำมุม 20 - 25 องศากับพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขาประมาณ 3,000 - 4,500 เมตร ภูเขาสูงใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะมีหลายเทือกหลายแนวสลับกับหุบเขาลึก เรียกว่า กลุ่มเทือกเขา กลุ่มเทือกเขาสูงใหญ่ในปัจจุบันเกิดขึ้นในยุคเทอร์เชียรี จากการเคลื่อนไหวแปรรูปของเปลือกโลก กลุ่มเทือกเขาเหล่านี้จะมีความกว้างมากและทอดยาวเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เรียกว่า กลุ่มเทือกเขาระบบแอลไพน์ มีปรากฎอยู่ในทวีปต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตลอดจนออสเตรเลีย เช่น เทือกเขาแอลฟ์ เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาร็อกกี เทือกเขาเขอตลาส เทือกเขาแอนดิส

ก่อนถึงยุคเทอร์เชียรีมีภูเขาที่เกิดจากการเคลื่อนไหวแปรรูปมาแล้วสองครั้งด้วยกัน ภูเขารุ่นที่หนึ่งเรียกกว่า ภูเขาระบบคาสิโดเนียน เกิดเมื่อประมาณ 300 ล้านปีมาแล้ว พบอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย พาดผ่านสกอตแลนด์ไปจนถึงไอร์แลนด์ ภูเขารุ่นที่สองเรียกว่า ภูเขาระบบเฮอร์ซีเนียน เกิดเมื่อประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว ปรากฎอยู่ทุกทวีป เช่น เทือกเขาอูราล เทือกเขาแอพพาเลเชียน ที่สูงทางตะวันออกของทวีปออสเตรเลียในประเทศไทยทิวเขาด้านตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นแนวพรมแดนไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้จัดอยู่ในภูเขารุ่นที่สองนี้

ภูเขามีหลายชนิดด้วยกันได้แก่

1. ภูเขารูปโดม เป็นภูเขารูปกลมมีรูปร่างคล้ายกระทะคว่ำ มีขนาดต่าง ๆ กันไปตั้งแต่ความกว้างน้อยกว่า 1 กม. ไปจนถึงความกว้างหลายร้อยกิโลเมตร เกิดจากการโค้งงอของชั้นหินจนมีโครงสร้างเป็นรูปคล้ายกระทะคว่ำ ปัจจุบันภูเขารูปโดมส่วนใหญ่มีขนาดไม่สูงใหญ่มากนักเพราะเป็นภูเขารุ่นเก่าผ่านการสึกกร่อนมาเป็นเวลายาวนาน

2. ภูเขาบล็อก เป็นภูเขาที่เกิดจากการเลื่อนตัวของหินในระยะที่เกิดขึ้นนั้น ภูเขาบล็อกจะมีด้านหนึ่งชัน ซึ่งมักจะเป็นด้านเดียวกับผิวรอบเลื่อน ๆ อีกด้านหนึ่งมีความลาดเทน้อย เกิดจากชั้นหินที่วางตัวเอียง ๆ ภูเขาบล็อกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เริ่มด้วยด้านที่ชันมาก รอยเลื่อนจะถูกทำลายไปในอัตราที่เร็วกว่าอีกด้านหนึ่ง แม่น้ำที่ไหลลงไปตามหน้าผาจะกัดเซาะทำให้เกิดหุบเขา นาน ๆ เข้าภูเขาจะมีรูปร่างที่สมมาตรกันมากขึ้น ค่อย ๆ ลึกกร่อนจนหายไปในที่สุด

3. ภูเขาที่เกิดจากรอยคดโค้งของหิน มักจะเป็นเทือกเขายาว วางตัวซ้อนกันหรือต่อกันเป็นแนวสลับกับหุบเขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มเทือกเขา ภูเขาชนิดนี้รุ่นหลังสุดเรียกว่า ภูเขาระบบแอลไพน์เป็นกลุ่มเทือกเขาขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอลพ์ เทือกเขารอกกี เทือกเขาแอนดิส ในประเทศไทยคือทิวเขาที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้ รวมทั้งอาณาเขตที่สูงในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา ทิวเขาเหล่านี้จัดเข้าในภูเขารุ่นที่สองในระยะแรกที่มีการคดโค้งของเปลือกโลกชั้นหินรูปประทุนหงายมักเป็นหุบเขา

4. ภูเขาแบบซับซ้อน เป็นภูเขาที่มีโครงสร้างหลายรูปแบบรวม ๆ กันอยู่ แต่ละแบบมองเห็นได้ชัดเจน ภูเขาชนิดนี้อาจประกอบด้วยหินอัคคีล้วน ๆ หรือหินแปรล้วน ๆ หรือเป็นหินชั้นที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยหินทั้งสามประเภทดังกล่าวแล้ว

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย