ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ภควัทคีตา

เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ขจองงศาสนาฮินดู โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพหรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (นารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุดชื่อคัมภีร์นี้แปลว่าบทเพลง (หรือลำนำ) ของพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศเหมือนดังคัมภีร์พระเวทแต่ละเล่ม แต่ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่หก (ภีษมบรรพ) แห่งกาพย์มหาภารตะ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือ อรชุน เจ้าชายฝ่ายปาฌฑพ แห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่ มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสดินาปุระ จากฝ่ายเคารพแห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยชน์ และกองทัพพันธมิตรมากมาย เป็นคู่สงครามด้วยฝ่ายผู้ตอบปัญหา และเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องคือ กฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์สาขายาทพ ขณะทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฎร์ พระราชาเนตรบอดแห่งเมืองหัสดินาปุระ โดยมหาฤษีวยาส หรือฤาษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งครั้งนั้น และมาให้ชื่อกันภายหลังว่าภควัทคีตา

ถ้าจะกล่าวแล้วคำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตาเกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบพวกภาควตะซึ่งบูชาพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุด ภควัทคีตาแบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ รวม 18 อัธยายะ ได้แก่ ความท้อถอยของอรชุน หลักรู้โดยอาศัยแนวความคิดในปรัชญาสางขยะและโยคะ หลักปฏิบัติ หลักจำแนกญาณหลักแห่งการสละกรรม และประกอบกรรม หลักแห่งการเข้าฌาน หลักญาณ หลักพรหม ผู้ไม่เสื่อม หลักเข้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งวความลึกลับ หลักทิพยอำนาจ หลักการเห็นรูปยิ่งใหญ่แท้จริงของพระเจ้า หลักภักดี หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย หลักจำแนกคณะทั้งสาม หลักว่าด้วยบุรุษผู้ประเสริฐสุด หลักว่าด้วยการบจำแนกทิพยสมบัติและอสุรสมบัติ หลักจำแนกศรัทธาสามอย่าง หลักว่าด้วยการสละ ซึ่งเป็นปฏิปทาแห่งการหลุดพ้น

ภควคีตา เริ่มเรื่องโดยกล่าวถึงวันแรกแห่งมหาสงครามระหว่างฝ่ายเการพ และฝ่ายปาณฑพ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากันที่ทุ่งกุรเกษตร ฝั่งขวาของบแม่น้ำยมนานั้น อรชุนผู้นำทัพฝ่ายปาณฑพ ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ ได้สั่งให้สารถีคือกฤษณะขับรถออกหน้ากองทัพ เพื่อจะให้สัญญาณรบกับฝ่ายเการพ ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม แต่เมื่อมองไปในกองทัพของศัตรูก็เห็นนายทัพนายกองฝ่านนั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่รู้จักสนิทกันมาก่อน บางคนก็เป็นญาติพี่น้อง บางคนก็เป็นครูบาอาจารย์ และมิตรสหาย ก็เกิดความท้อแท้ในใจ เพราะความสงสารไม่อาจให้สัญญาณรบ กฤษณะทราบวาระน้ำจิตของอรชุนจึงกล่าวเตือนสติ โดยยกหลักคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท มากระตุ้นให้อรชุนเข้าใจในความจริง อันเร้นลับว่าอาตมัน หรือพระเจ้าที่อาศัยอยู่ในร่างมนุษย์นั้นมีความเป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดหรือใคร ๆ จะทำอันตรายหรือฆ่าได้ กฤษณะเริ่มบทบาทของพระเจ้าในร่างมนุษย์ ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป โดยชี้ให้เห็นความจริงอันเป็นคำสอนเร้นลับ (รหัสยลัทธิ)

อาตมันนี้ไม่เคยเกิดไม่เคยตาย จะไม่เป็นอีกเมื่อได้เป็นแล้วอาตมันนี้ไม่เกิด มีความเที่ยงแท้ในภายหน้า และมีความเที่ยงแท้มาแล้วในอดีต ย่อมฆ่าไม่ตาย ในเมื่อร่างกายถูกฆ่า

อาตมันนี้ ไม่ถูกตัดไม่ถูกเผา ใครทำให้เปียกก็ไม่ได้  ทำให้แห้งก็ไม่ได้ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ย่อมปรากฎทั่วไป ย่อมมั่นคง ไม่หวั่นไหว มีแต่ความยั่งยืนตลอดไป

อาตมันนี้ กล่าวกันว่าไม่มีการปรากฏในรูปนั้นรูปนี้ เป็นอจินไตย (ไม่พึงคิดไม่พึงเดา) ไม่มีวิการ (การเปลี่ยนแปลงรูปหรือภาวะ) ฉะนั้นเมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ท่านจะระทดระท้อด้วยเหตุใดเล่า

กฤษณะเตือนอรชุนให้ระลึกถึงหน้าที่อันแท้จริงของกษัตริย์หรือนักรบว่า จะต้องต่อสู้เพื่อปราบศัตรูให้สิ้นไป การที่ชนวรรณกษัตริย์ละทิ้งหน้าที่ของตนย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไร้เกียรติยศ และจะถูกคนทั้งหลายติเตียนไปชั่วชีวิต หน้าที่เป็นภาระศักกดิ์สิทธิ์ที่เกิดมาพร้อมวรรณะ ชนแต่ละวรรณะ จะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ และได้เน้นให้อรชุนตระหนักว่าหากถูกฆ่า ท่านก็จะได้ไปสู่สวรรค์ หากชนะท่านก็จะได้ครองแผ่นดินโลก ฉะนั้นจงทำใจให้มั่นคงเพื่อจะรบ ณ บัดนี้

จากนั้น กฤษณะก็เริ่มการสอนหลักธรรมอันนำมนุษย์ไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์คือ โมกษธรรม ซึ่งทำให้อรชุนเกิดความพิศวงงงงวย เพราะเป็นตอนที่กฤษณะประกาศตนเองว่าเป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์ เป็นพระเจ้าที่อวตารมาในโลกเพื่อปราบอธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรมะเป็นหลักโลกต่อไป

อรชุนได้ซักถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า กฤษณะก็ได้อธิบายความอันเกี่ยวกับภาวะของพระเจ้าและหนทางไปสู่พระเจ้า อันเป็นความหลุดพ้นอย่างละเอียดพิสดาร โดยหยิบยกปรัชญาสาขาต่าง ๆ มากล่าวประกอบคำอธิบายหลายเรื่องเช่น กล่าวถึงคำสอนตามหลักปรัชญาสางขยะ ปรัชญาอุปนิษัท และปรัชญาเวทานตะ แต่มิได้เน้นจริงจังแน่นอนลงไปในปรัชญาสาขาใดโดยเฉพาะ สรุปได้ว่ากฤษณะกล่าวถึงคนในลักษณะสองอย่างคือ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมคือมีภาวะความเป็นอยู่ แต่ไม่แสดงรูปร่างของพระเจ้าให้ปรากฎ ซึ่งในลักษณะเช่นนั้นก็คือ อาตมันหรือปรมาตมันหรือพรหม อันเป็นพระเจ้าในแบบนามธรรม ในขณะเดียวกันก็กล่าวถึงตนเองในฐานะพระเจ้าซึ่งมีรูปร่างเป็นพระเจ้าผู้ทรงสรรพศักดิ์สูงสุด แต่ผู้เดียวในสากลจักรวาล

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย