ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ป่วง

คือ ความเจ็บไข้อย่างหนึ่งที่ปรากฎในคัมภีร์แพทย์โบราณ อาการโดยทั่วไปได้แก่  ท้องเดิน อาเจียน กระวนกระวาย  ริมฝีปากซีดเขียว  ขอบตาซีด  เสียงแหบ  หาวเรอ หายใจเบาเร็ว มือเท้าซีดเหี่ยว ฯลฯ ทั้งนี้เพราะผิดสำแดงจากอาหารเป็นพิษ

ในตำราโบราณ จำแนกป่วงตามอาการของผู้ป่วยเป็นแปดประการ คือ

1. ป่วงงู  ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนบ่อยไม่หยุด ตาปรอย บิดตัวอยู่เสมอ เพราะปวดท้อง ผู้ป่วยมักตาย หรือไม่ก็มีอาการเป็น หรือตายเท่ากัน
2. ป่วงลิง  ผู้ป่วยมีอาการหนาว คางสั่น แน่หน้าอก ริมฝีปากซีดเขียว ขอบตาซีด มีอาเจียนเป็นสำคัญ เอามือกอดอกมีท่าทางเหมือนลิง อาการจะอยู่จะไปเท่ากัน
3. ป่วงลม  มีอาการเสียดที่สีข้าง ท้องเดินไม่มาก แน่นจุกอก อาเจียนเป็นน้ำลาย รู้สึกร้อนและกระวนกระวาย
4. ป่วงศิลา  เริ่มด้วยอาการอาเจียน แล้วทวีความรุนแรงขึ้น มักอาเจียนเป็นลมเปล่า ๆ ปวดเมื่อยที่ข้อ รู้สึกเสียดแทงที่หน้าอก มือเท้าบวม ไม่รู้รสอาหาร พูดเสียงเบาและพูดไม่ชัด อาการเป็นพัก ๆ ดูคล้ายกับผีเข้าคือ เป็น ๆ หาย ๆ
5. ป่วงลูกนก  มีอาการหนาวสั่น ขนลุกชันคล้ายลูกนกเปียกฝน ปวดท้อง ท้องลั่นโครกคราก หาวเรอ หายใจไม่สะดวกจนถึงหอบ อาการเป็นตายเท่ากัน
6. ป่วงเลือด  มีอาการหนาว หอบ เหนื่อย เพ้อ เซื่องซึม ตาซึม ตัวเหลือง ถ้ารักษาไม่หายจะตายในเจ็ดวัน
7. ป่วงน้ำ  มีอาการท้องเดิน และอาเจียนอย่างรุนแรง ผิวหนังซีดเซียว รู้สึกหนาว แต่ตัวอุ่น ตัวเหลืองและตาเหลือง (ดีซ่าน)  ทำให้ตายได้อย่างรวดเร็ว
8. ป่วงโกฐ  มีอาการอาเจียน ร้อนทั้งลำคอ มือและเท้าเหี่ยวซีด เหงื่อเหนียว รู้สึกหนาวแบบเป็นเหน็บ เจ็บมือและเล็บเท้ามีสีเขียวคล้ำ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย