ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ปฏิทิน

"แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" ปฏิทินหมายถึงระบบการจัดแบ่งช่วงเวลาให้เป็นวัน เดือน ปี โดยอาศัยหลักการทางดาราศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับเป็นหน่วยกำหนดนับอายุ และบันทึกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปฏิทินที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ ปฏิทินแบบเกรกรอเรียน

 เนื่องจากปีหนึ่งมี 365.24224  วัน  จึงได้มีการวางหลักเกณฑ์และกำหนดขึ้นใหม่ เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินขึ้น เริ่มใช้กันมาเป็นหลักฐานเมื่อปี พ.ศ.497 และได้มีการแก้ไขใหม่เมื่อปี พ.ศ.2125 กำหนดให้ปีหนึ่ง ๆ มี 365 วันถ้วนเรียกว่าปีธรรมดา หรือปรกติสุรทิน และปีหนึ่ง ๆ กำหนดให้มี 12 เดือน

ปฏิทินแบบเก่าบอกแต่วันทางจันทรคติเป็นข้างขึ้นข้างแรม และบอกชื่อปีเป็นชื่อตามสิบสองนักษัตรคือ ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ การนับวันทางสุริยคติเพิ่งจะมีใช้เมื่อปี พ.ศ.2432 นี้เอง ศักราชที่ปรากฎในปฏิทินโดยทั่วไปมีอยู่สามอย่างคือ พุทธศักราช (พ.ศ.) มหาศักราช (ม.ศ.) และจุลศักราช (จ.ศ.)

พุทธศักราช  กำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นปีที่หนึ่ง แต่เดิมคำนวณตามจันทรคติขึ้นปีใหม่เมื่อเดือนหก แรมหนึ่งค่ำ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งศักราชรัตนโกสินทร์ศกขึ้นใหม่ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามระบบปฏิทินเกรกรอเรียน ถึงรัชกาลที่หกเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก ต่อมาในปี พ.ศ.2483 รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ปีปฏิทินมีกำหนด 12 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม โดยให้ปี พ.ศ.2483 สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมและในปี พ.ศ.2484 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นปีแรก

มหาศักราช  กล่าวกันว่าพระเจ้าศาลิวาหะ กษัตริย์อินเดียองค์หนึ่งทรงตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกมีชัยต่อราชศัตรู ในปีเถาะ พ.ศ.622 ใช้คำนวณเดือนตามสุริยคติขึ้นปีใหม่ เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ

จุลศักราช  กษัตริย์พม่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1182 จุลศักราชปีศก ซึ่งหมายถึงจำนวนปีกำกับด้วยชื่อต่าง ๆคือ ถ้าตัวเลขสุดท้ายเป็นเวลาหนึ่งเรียกว่าเอกศก เลขสองเรียกโทศก เลขสามเรียกตรีศก ฯลฯ เลขศูนย์เรียกสัมฤทธิศก

ปีนักษัตร  ประเทศไทยรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนคือกัมพูชา มอญ เวียตนาม จาม ทิเบต ญี่ปุ่น จีน และชาวเกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย แบ่งปีเป็นสิบสองปี และเรียกชื่อเป็นสิบสองนักษัตร คือกำหนดหมายชื่อปีเป็นชื่อสัตว์ โดยมีรูปสัตว์นั้น ๆ เป็นเครื่องหมาย เฉพาะประเทศไทยมีชื่อสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปีดังนี้คือ ปีที่หนึ่ง ชวดมีรูปหนู ปีที่สองฉลูเป็นรูปวัว ปีที่สามขาลเป็นรูปเสือ ฯลฯ ปีที่สิบสองกุนเป็นรูปหมู

ปีและเดือน  ระยะเวลาที่โลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบหรือเป็นระยะเวลาที่โลกโคจรถึงจุดหนึ่งในท้องฟ้าสองครั้งถัดกันไป ถ้าจุดที่กำหนดนั้นใช้จุดราศีเมษเรียกว่า ปีสุริยคติปานกลาง ซึ่งมีระยะเวลา 365 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที 48.8 วินาที

ปีจันทรคติ   กำหนดนับเวลาตามระยะเวลาโคจรของดวงจันทร์รอบโลก 12 ครั้ง หรือ 12 เดือน จันทรคติเป็นเวลานาน 354.37 วัน ทางสุริยคติปานกลาง

ปีสุริยคติ  คือระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โดยถือจุดวสันตวิษุวัต เป็นหลักเป็นเวลานานเท่ากับ 365.24224 วัน ทางสุริยคติปานกลาง

วิษุวัต  คือจุดสองจุดอยู่ตรงข้ามกัน เกิดจากวิถีของดวงอาทิตย์ ที่ปรากฎเห็นตัดกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า จะทำให้เป็นมัธยมกาลคือ กลางวันและกลางคืนเท่ากันทั่วโลก ในรอบปีหนึ่งจะโคจรมาผ่านจุดวิษุวัตสองครั้งคือ ราววันที่ 21 มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต และราววันที่ 22 กันยายน เรียกว่า ศารทวิษุวัต

เดือนจันทรคติ  มีสิบสองเดือนเรียกชื่อว่า เดือนอ้าย เดือนยี่  เดือนสาม ฯลฯ เดือนสิบสอง ในเดือนทั้งสิบสองเดือนนี้ มีจำนวนวันไม่เท่ากัน เพราะดวงจันทร์โคจรรอบโลกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 29 1/2 วัน จึงต้องนับ 59 วัน เป็นสองเดือน โดยจัดแบ่งให้เดือนหนึ่งมี 30 วัน อีกเดือนหนึ่งมี 29 วัน เดือนคี่มีเดือนละ 29 วัน เรียกว่า เดือนขาด เดือนคู่ มีเดือนละ30 วัน เรียกว่า เดือนเต็ม เดือนใดเป็นเดือนขาด จะสิ้นเดือนในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 1 ไหนเป็นเดือนเต็มจะสิ้นเดือนในวันแรม 15 ค่ำ วันเหล่านี้ วันขึ้น 14 ค่ำ หรือแรม 14 ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นแรม 13 ค่ำ เรียกว่า วันโกน เป็นวันที่พระสงฆ์ในเมืองไทยปลงผม วันขึ้น 8 ค่ำ หรือขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ หรือวันสิ้นเดือน ถ้าเป็นเดือนขาดก็เป็นวันแรม 14 ค่ำ ถ้าเป็นเดือนเต็มก็เป็น แรม 15 ค่ำ เรียกว่า วันพระ เป็นวันประชุมถือศีลฟังธรรม ในพระพุทธศาสนา

อธิกมาส อธิกวาร  โดยเหตุที่ปีจันทรคติน้อยกว่าปีสุริยคติถึง 11 วันเศษ ในสามปีจะมากกว่ากันถึงหนึ่งเดือนเศษ ดังนั้น เพื่อให้ฤดูกาลทางจันทรคติคงที่อยู่ตามสภาพธรรมดาของโลก จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติอีกหนึ่งเดือน ในปีที่สามบ้าง ปีที่สองบ้าง เดือนที่เพิ่มนี้เรียกว่า อธิกมาส ปีที่มีอธิกมาส จึงมี 13 เดือน ปรกติจะเพิ่มเดือนแปดเข้าอีกเดือนหนึ่ง ปีใดมีอธิกมาส ปีนั้นมีเดือนแปดสองหน นอกจากนี้ ตามแบบโหรไทยมีวันเพิ่มเข้าในเดือนเจ็ดอีกหนึ่งวันเรียกว่า อธิกวาร มีระยะ 5 ปี 6 ปี หรือถ้าล่วงมาถึง 7 ปี ต่อไปอีก 3 ปี เขาก็วาง จึงเป็นอันว่าปีใดมีอธิกวาร ปีนั้นเดือนเจ็ดมี 30 วัน

เดือนสุริยคติ  แบ่งออกได้เป็น 12 เดือน ตามจักรราศี มีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวที่อยู่ในราศีนั้น ๆ ราศีหนึ่ง ๆ มีกลุ่มดาวหลายดวง เรียงรายอยู่เป็นรูปต่าง ๆ และะสมมติรูปของกลุ่มดาวเหล่านั้น แล้วบัญญัติชื่อขึ้นไว้ มีความหมายดังนี้คือ ราศีที่หนึ่งเรียก ราศีเมษ มีรูปแกะ หรือแพะ เป็นเครื่องหมาย ราศีที่สองเรียก ราศีพฤกษภ รูปโค ราศีที่สามเรียก ราศีเมถุน รูปคนคู่ (ชาย หญิง) ฯลฯ  ราศีที่สิบสองเรียก ราศีมีน รูปปลาสองตัว

ชื่อเดือนสุริยคติ มี เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ฯลฯ มีนาคม ชื่อเดือนดังกล่าว ตั้งจากชื่อกลุ่มดาวในจักรราศีทั้งสิบสอง

วัน  คือ ระยะเวลาที่โลกหมุนรอบแกนตัวเอง จากทุกทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างที่วัตถุท้องฟ้า ดวงใดดวงหนึ่งผ่านเส้นเมอริเดียนเดียวกันไปจนครบหนึ่งรอบ เรียกว่า วัน มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันแล้วแต่จะใช้วัตถุใดเป็นที่หมาย เช่น ถ้าใช้ดวงอาทิตย์เป็นที่หมาย ก็เรียกว่า วันสุริยคติ ถ้าใช้ดาวฤกษ์ เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันดาราคติ ถ้าใช้ดวงจันทร์เป็นที่หมายก็เรียกว่า วันจันทรคติ

ความนานของวันจริงแต่ละวันไม่เท่ากัน เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี และโคจรด้วยความเร็วไม่เท่ากัน พื้นวงโคจรของโลกไม่ได้เป็นพื้นเดียวกันกับพื้นเส้นศูนย์สูตรของโลกคือ เอียงเป็นมุมประมาณ 23 องศาครึ่ง เป็นต้น จึงได้กำหนดวันขึ้นใหม่เรียกว่า วันสมมติ คือ เอาความนานของปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน มีความนานเท่ากัน หรือจะกล่าวว่า เอาความนานของวันจริงแต่ละวันที่นานไม่เท่ากันตลอดทั้งปีสมมติมาเฉลี่ยให้แต่ละวัน มีความนานคงที่เท่า ๆ กันทุกวันนั่นเอง

เมื่อความนานของวันสมมติคงที่แล้ว ก็สามารถสร้างเครื่องจักรกลที่เรียกว่า นาฬิกา สำหรับวัดความนานของแต่ละวันสมมติได้ แบ่งออกเป็น 24 ชั่วโมง ในหนึ่งชั่วโมงแบ่งออกเป็น 60 นาที ในหนึ่งนาที แบ่งออกเป็น 60 วินาที

การนับวันสมมติ ณ ที่ใดที่หนึ่งใช้เส้นแวงที่ผ่านตำบลนั้น เป็นหลักในการนับเวลาที่อ่านได้ ก็จะเป็นเวลาของตำบลนั้น ๆ ดังนั้น เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง จึงได้ตกลงให้ถือเอาเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิช ในประเทศอังกฤษเป็นหลัก ฉะนั้น วันเวลาที่เมืองกรีนิชจึงเรียกว่า วันสากล และเวลาสากล  สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองกรีนิช จึงมีเวลาเร็วกว่าเมืองกรีนิช 7 ชั่วโมง

อธิกสุรทิน  หมายถึง วันทางสุริยคติที่เพิ่มขึ้น คือ เพิ่มเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ อีกวันหนึ่งเป็น 29 วัน

ชื่อวัน  เรียกชื่อตามวันที่ชาวอินเดียเรียกว่า อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ฯลฯ เสาร์ โดยมีต้นเค้าคติ 7 วัน ของเชาวแบบิโลเนียน - กรีก - อียิปต์ - ซีเรียน (อาหรับ) ซึ่งได้แพร่ขยายไปทั่วทั้งสี่ทิศ ในปี พ.ศ.1045 ได้แพร่หลายเข้าไปในอินเดีย แล้วเปลี่ยนชื่อวันเป็นเทวดาอินเดีย จากอินเดียได้แพร่ขยายไปทิเบต แหลมอินโดจีน และหมู่เกาะชวา มลายู

เวลา  คือ ความนานที่วัดได้ การวัดเวลาแต่เดิมอาศัยปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาตราที่วัดได้แก่ วัน ชั่วโมง นาที และวินาที

มาตรากำหนดเวลาของไทย  กำหนดให้วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง เป็นกลางวัน 12 ชั่วโมง กลางคืน 12 ชั่วโมง กลางวันเรียกว่า โมง กลางคืนเรียกว่า ทุ่ม  ในชั่วโมงแบ่งเป็น 10 บาท บาทหนึ่งมี 6 นาที (เดิมมี 4 นาที) นาทีหนึ่งแบ่งเป็น 60 วินาที หรือ 15 เพชรนาที 60 นาทีเป็นหนึ่งชั่วโมง

ก่อนปี พ.ศ.2460 การขึ้นวันใหม่ เริ่มต้นวันเมื่อย่ำรุ่ง (0600 นาฬิกา) ต่อมาในปี พ.ศ.2460 มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้การขึ้นวันใหม่ เช่นเดียวกับชาวยุโรปคือ เริ่มต้นวันเมื่อ 12 ชั่วโมง ก่อนเที่ยงวัน (คือเที่ยงคืน) และสิ้นวันเมื่อ 12 ชั่วโมง หลังเที่ยงวัน

ก่อนปี พ.ศ.2463 ประเทศไทยใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมติกรีนิช 6 ชั่วโมง 41 นาที 57.3 วินาที ในปี .ศ.2463 เปลี่ยนเป็นใช้เวลาอัตราเร็วกว่า เวลาสมมติกรีนิช 7 ชั่วโมง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย