ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ปฎิจสมุปบาท

นัยหนึ่งแปลว่า ภาวะที่อาศัยกันเกิดขึ้น นัยหนึ่งแปลว่า หมู่แห่งธรรมที่เป็นเหตุทำให้ธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นสม่ำเสมอ พร้อมกันโดยอาศัยพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุนั้น ๆ นัยหนึ่งแปลว่า การเกิดขึ้นตามลำดับของธรรม ที่อาศัยปัจจัยของตน ๆ และไม่ปราศจากกันกับปัจจัยของตนนั้น ๆ โดยความหมาย หมายถึง อาการแห่งภาวะธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม และภาวะที่ปรากฎชัดของธรรมที่เป็นปัจจัยแก่สังขตธรรม เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้น เนื่องกันไปไม่ขาดสาย เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สืบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลาย เป็นหลักธรรมว่าด้วยการกำเนิดแห่งชีวิต ซึ่งเป็นส่วนวัฎฎะคือ ส่วนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในสงสารและเหตุผล ส่วนวิวัฎฎะ คือ ส่วนที่อยู่เหนือความเวียนว่ายตายเกิดนั้นอันได้แก่ พระนิพพาน

 ธรรมที่เป็นเหตุปัจจัย หรือเป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิด ซึ่งเรียกว่า ปฎิจสมุปบาท นั้นคือ

1. อวิชชา  ความไม่รู้ความจริง เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น
2. สังขาร  ความปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น
3. วิญญาณ  ความรู้แจ้งอารมณ์ (ปฎิสนธิวิญญาณ) เป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดขึ้น
4. นามรูป  นามขันธ์สาม รูปขันธ์ หนึ่งเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดขึ้น
5. สฬายตนะ อายตนะภายในหก เป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดขึ้น
6.  ผัสสะ  ความสัมผัสอารมณ์ เป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น
7. เวทนา  ความเสวยอารมณ์เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้น
8. ตัณหา  ความอยากได้เป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดขึ้น
9. อุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่นเป็นปัจจัยให้ภพเกิดขึ้น
10. ภพ  กรรมภพ และอุปปัติภพ เป็นปัจจัยให้ชาติเกิดขึ้น
11. ชาติ  ความเกิดเป็นปัจจัยให้ชรา มรณะ ความคับแค้นใจเกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของชีวิตทุก ๆ องค์อาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าตัดอวิชชา และตัณหา ยังไม่ขาดชีวิตก็จะดำเนินไปถึงจุดมรณะ หรือจุติ (ตาย) แล้วก็ต้องปฎิสนธิ (เกิด) ต่อไปอีก เรื่องปฎิสนธิ (เกิด) นี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และระหว่างปัจจุบันกับอนาคต อนาคต แปลว่า "กาลที่ไม่รู้จักมาถึง" ชีวิตก็ดำเนินไปไม่ถึง เมื่อพูดถึงเรื่องปฎิสนธิ จึงควรเพ่งเฉพาะระยะต่อเนื่องกัน ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เหตุในอดีตที่ทำให้เกิดผลในปัจจุบันคือ ทำให้ชีวิตปฎิสนธินั้นได้แก่  อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ทุกชีวิตย่อมหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน

ปฎิจสมุปบาท ว่าโดยลำดับจากต้นไปหาปลายคือ เริ่มต้นแต่ อวิชชาไปจนถึง ชรา มรณะ เป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของชีวิต จากเหตุไปหาผล ถ้าว่าโดยทวนลำดับนับแต่องค์สุดท้ายสาวเข้าไปหาเหตุว่ามีชรา มรณะก็เพราะมีชาติเป็นปัจจัย มีชาติก็เพราะมีกรรมภพเป็นปัจจัย ฯลฯ มีสังขารก็เพราะมีอวิชชาเป็๋นปัจจัย

ปฏิจสมุปบาท อันเป็นระบบการกำเนิดแห่งชีวิต หรือกฎการหมุนเวียนแห่งชีวิต ท่านจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ภวจักร" แปลว่าล้อแห่งชีวิต เพราะชีวิตมีความหมุนเวียนเป็นวงกลมแห่งวงจักร หาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สังสารวัฏ" ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ อัทธา (กาล) สามองค์ สองสนธิ สามสังคหะ (สังเขป) สี่อาการ ยี่สิบวัฎ สามมูล สองหมุนไปในภพต่าง ๆ กล่าวโดยย่อคือ กรรมภพและอุบัติภพ

ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจ ปฏิจสมุปบาทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนวัฎกถาคือ ส่วนที่ว่าด้วยค่าความหมุนเวียนแห่งชีวิตเป็นสมุทยวาร คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการกำเนิดแห่งชีวิต (ทุกข์) ส่วนวิวัฏกถา คือส่วนที่ว่าด้วยการยุติความหมุนเวียนของชีวิตอันเป็นนิโรธวาร คือส่วนที่ว่าด้วยกระบวนการดับของชีวิต (ทุกข์) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิโลมเทศนา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเพราะอวิชชาดับไปโดยสิ้นเชิงด้วยวิราคธรรม (มรรค) สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญาณกับนามรูปจึงดับ ฯลฯ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับชรามรณะจึงดับ ทุกข์ทั้งมวลย่อมดับไปด้วยประการดังกล่าวมา เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยใจความ ปฏิจสมุปบาทกับอริยสัจจึงเป็นอันเดียวกัน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย