ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ใบระกา

เป็นชื่อตัวไม้หรือลวดลายปูนปั้น ลายปั้นดินเผา เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง มีลักษณะเป็นครีบ ๆ ติดกับตัวรวย หรือตัวลำยอง สำหรับประกอบกับช่อฟ้า และหางหงส์ หรือเหรา ติดที่จั่วหลังคา ปีกนกหลังคา ตะเฆ หลังคา หรือซุ้มบรรพ์แถลง ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ซึ่งเกี่ยวกับพระราชมณเทียร ฯ และพุทธศิลป์

คำว่า ใบระกา นี้โบราณาจารย์ได้ให้อรรถาธิบายไว้เป็นสามนัยด้วยกัน โดยอาศัยเทพนิยายเทวกำเนิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ต่อมาทางไทยได้รับอิทธิพลของเทพนิยายนี้ มาประดิษฐ์คิดขึ้นเป็นรูปของสถาปัตยกรรมไทย เทพนิยายดังกล่าวได้แก่ ครุฑ กับนาค และเหรา (จระเข้ + นาค)  ช่างโบราณได้ข้อคิดของครุฑจับนาค เอามาคิดประดิษฐ์เป็นเครื่องตกแต่งในทางสถาปัตยกรรมขึ้น ลักษณะของใบระกาที่ใช้ประกอบจั่วหลังคา ตามนัยโบราณคือ

ก. ใบระกาที่เกี่ยวกับครุฑ หมายถึง ขนปีกใต้ท้องแขนครุฑ ส่วนตัวไม้เรียกว่า ช่อฟ้า ก็หมายถึง ส่วนหน้าและอกของครุฑ
ข. ใบระกาที่เกี่ยวกับนาค หมายถึง ครีบสันหลังของนาค (เตยหลังนาค ก็เรียก) ส่วนที่เป็นหัวนาคเรียกว่า หางหงส์ หรือนาคเบือน
ค. ใบระกาที่เกี่ยวกับเหรา นั้น หมายถึง ครีบสันหลังของตัวเหรา การใช้ใบระกาประกอบเหรานี้ นักประดิษฐ์เป็นลวดลายได้ต่าง ๆ ตอนบนสุดเหนืออกไก่ ก็ลดรูปช่อฟ้า (ไม่มีช่อฟ้า ) โดยกำหนดทรงในลักษณะของปั้นลมเรือนไทยโบราณ

สมัยปัจจุบันการวางรูปทรงของจั่วที่มีแต่ใบระกา และหางหงส์ โดยลดรูปช่อฟ้า (ไม่มีช่อฟ้า ) ก็มีเช่น วางเป็นรูปทรงบัวเจิม

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย