ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

เบญจรงค์

เป็นคำช่าง เรียกสีหลักห้าสี ได้แก่ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (คราม) แม่สีทั้งห้าสีนี้ เป็นต้นกำเนิดของสีต่าง ๆ

การใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยนั้น สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หลักฐานที่เก่าที่สุด ที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ ภาพพระบฏ สมัยเชียงแสน ซึ่งพบอยู่ในหม้อดินเผา ในกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พบเมื่อปี พ.ศ.2503 นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานการใช้เบญจรงค์ ในงานศิลปกรรมของไทยสมัยต่าง ๆ แยกตามประเภทดังนี้

1. งานจิตรกรรม  ส่วนใหญ่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังของศาสนสถาน ยังมีหลักฐานปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เช่น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้น ยังมีการเขียนลงบนผ้า เช่น ภาพพระบฏ เขียนลงบนผ้านุ่งเรียกว่า ผ้าถมปัก หรือผ้าสมปัก
2. งานประติมากรรม  ได้แก่ การทำเครื่องถ้วยที่เรียกกันทั่วไปว่า เครื่องถ้วยเบญจรงค์ นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องถม ใช้เบญจรงค์ตกแต่งเรียกว่า เครื่องถมปัก เครื่องถมชนิดนี้ใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ ห้าสีนำมาบดละเอียด แล้วติดลงบนภาชนะโลหะ ทองแดงที่ขึ้นรูปไว้ แล้วนำเข้าเตาอบความร้อนจนลูกปัดสีละลายกลายเป็นเคลือบภาชนะนั้น เครื่องถมปักใช้เป็นเครื่องยศ สำหรับพระ ขุนนาง และของใช้ของคหบดี ทำเป็นภาชนะแบ่งต่าง ๆ เช่น หีบบุหรี่ ฝาบาตร คนโทน้ำ ปิ่นโต จอก โถ ขันน้ำพานรอง ฯลฯ
3. งานศิลปะตกแต่งอื่น ๆ  เช่น การใช้เบญจรงค์เขียนลวดลายที่เรียกว่า ลายเชิง ผนังของโบสถ์ วิหารหรืออาคารต่าง ๆ การใช้กระจกสีต่าง ๆ ห้าสี ประดับอาคาร ซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย