ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

บารนี

มีชื่อเต็มว่า กัปตันหันตรี บารนี ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (หันตรี บารนี)  รัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้ส่งเขามาทำสนธิสัญญากับไทย ขอความสะดวกในการค้า เขาเกิดที่เมืองกัลกัตดา ในปี พ.ศ.2334 ได้เป็นนักเรียนนายร้อยในกองทหารอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก เขาเรียนภาษาฮินดูสตานีจนมีความรู้ เป็นล่ามประจำกรมทหารของเขา ในปี พ.ศ.2361 เขาได้เลื่อนขั้นเป็นเลขานุการฝ่ายทหารของผู้ว่าราชการอังกฤษประจำเกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับรัฐต่าง ๆ ในแหลมมลายู และประเทศไทย เขาเรียนภาษามลายูและไทย จนใช้การได้

ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียได้แต่ตั้งให้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เป็นทูตเข้ามากรุงเทพ ฯ เพื่อเจรจาตกลงกับไทยโดยทางไมตรี และขอให้ทำหนังสือสัญญากับไทยด้วย การเจรจาบรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ.2369 ได้ทำสนธิสัญญาต่อกัน นับว่าเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับอังกฤษ มีข้อความรวม 14 ข้อ ตัวอย่าง เช่น

ข้อ 1 อังกฤษกับไทยเป็นไมตรีโดยความสัจสุจริตซื่อตรงต่อกัน
ข้อ 2 ถ้าเมืองขึ้นของอังกฤษและของไทยทำการล่วงเกินต่อกัน ต่างฝ่ายก็จะแจ้งให้กันทราบ และจะพิจารณาความผิดตามกรณี
ข้อ 5 ทั้งไทยและอังกฤษจะแต่งเรือไปมาค้าขายต่อกันได้โดยปฏิบัติตามธรรมเนียมบ้านเมืองของแต่ละฝ่าย
ข้อ 12 ไทยไม่ขัดขวางการค้าขายของอังกฤษที่เมืองตรังกานู และเมืองกลันตัน
ข้อ 13 อังกฤษสัญญาว่าไทยเป็นผู้ปกครองเมืองไทรบุรี ชาวจีนและแขกไปมาค้าขายกับเมืองไทรบุรีได้
ข้อ 14 ไทยและอังกฤษจะให้เจ้าเมืองเประ พิจารณาเอาเองว่าจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้ทองและเงินแด่พระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่

นอกจากนี้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีได้ลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ ว่าด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการค้าขายกับไทย เช่น ปืน และกระสุนปืน ต้องขายแก่รัฐบาลไทย เรืออังกฤษที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ภาษีปากเรือ)  วาละ 1,700 บาท ฯลฯ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย