ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

บรรพชา

เป็นคำแผลงมาจากคำบาลีว่า ปพฺพชฺชา คือ การบวชแปลตามศัพท์ว่า เว้นทั่ว หมายถึง เว้นเมถุนธรรม เว้นอาหารกลางคืน สองข้อนี้เป็นสำคัญของการบวช แปลโดยอรรถว่า ถึงความประเสริฐเป็นพรหมจรรย์ บรรพชานี้เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว การบวชที่มีมาก่อนพุทธกาลนั้น บวชโดยวิธีอธิษฐานตน ถือเพศเป็นนักบวช

ในครั้งพุทธกาล ปรากฎในพระสูตรต่าง ๆ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น นักบวชแยกกันออกเป็นหลายลัทธิ หลายนิกาย เป็นฤาษี ดาบส ชฎิล ปริพาชก อาชีวก อเจลก มีติตถกร คือ เจ้าลัทธิตั้งเป็นสำนักใหญ่หกสำนัก เรียกกันว่า ครูทั้งหก แยกออกเป็นลัทธิถึง 62 ลัทธิ ในบาลี พรหมชาลสูตร สีลขันธวรรค ทีฆนิกาย เรียกว่า ทิฐิ 62

คติเรื่องบวช ทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีการบวชด้วยวิธีอธิษฐานเพศ มีแต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นต้นวงศ์ พระองค์เดียวเท่านั้น คำว่า บรรพชา หมายเอาการบวชทั่วไป รวมทั้งอุปสมบทด้วย ก็มี บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นสามเณร อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระภิกษุถือเป็นหลักมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว

ขณะนี้ คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทใช้อยู่สองวิธีคือ ใช้รับเด็กบวชเป็นสามเณรด้วยวิธีสรณาคมน อุปสมบทอย่างหนึ่ง ใช้รับกุลบุตรบวชเป็นพระภิกษุ ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา อุปสมบทอย่างหนึ่ง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย