ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สมเด็จพระบรมราชาธิราช

ในสมัยอยุธยามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า "บรมราชาธิราช"  รวมสี่พระองค์

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว) (พ.ศ.1913 - 1931)

เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สาม และนับกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นโอรสเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ (อู่ทอง) พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ก่อนขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1985 พระเจ้าแผ่นดินขอมแปรพักตร์ไป สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) โปรดให้ยกกองทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ราชธานีของขอมได้ ยังผลให้ขยายอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา ทางด้านตะวันออกไปอย่างกว้างขวาง

พระองค์ทรงยกทัพไปตีแดนสุโขทัยจนถึงเมืองชากังราว (ชื่อเดิมเมืองกำแพงเพชร)  ในปี พ.ศ.1915 แต่ถูกกองทัพสุโขทัยต้านทานไว้ได้ ต่อมาได้ทรงคุมกองทัพไปตีเมืองชากังราวอีกครั้ง พระมหาธรรมราชาที่สอง ผู้ครองกรุงสุโขทัยทรงยอมแพ้ อาณาจักรสุโขทัยจึงกลายเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงแบ่งอาณาจักรสุโขทัยออกเป็นสองภาคคือ ภาคเหนือและภาคใต้  ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำยมและน่าน โปรดให้พระมหาธรรมราชาที่สอง ปกครองในฐานะประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มีเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลาง นอกจากนี้ก็มีเมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร และเมืองสวรรคโลก เป็นต้น  ภาคใต้ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองกำแพงเพชร เมืองตาก และเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น โปรดให้พระยาญาณดิสโอรสบุญธรรมไปปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา

การได้อาณาจักรสุโขทัยเป็นประเทศราช ทำให้อาณาจักรลานนา อาณาจักรอยุธยากลายเป็นศัตรูต่อกัน เพราะชาวลานนาได้ลงมาช่วยกองทัพสุโขทัยต่อสู้กับกองทัพกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในปี พ.ศ.1923 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง ได้คุมกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถตีเมืองลำปางได้ ในปี พ.ศ.1931 พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทรงประชวรสวรรคตเสียกลางทาง

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พ.ศ.1967 - 1991)

เจ้าสามพระยาโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.1967 นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ด ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงสามารถในการปกครองพระราชอาณาจักรเช่น ตีกรุงกัมพูชาและทำลายกำลังที่จะเป็นอิสระเสีย แล้วเอาลูกเธอตั้งเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง และตั้งลูกเธออีกพระองค์หนึ่งไปครองราชธานีฝ่ายเหนือเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ.1974 พระเจ้าธรรมาโศก แห่งกรุงกัมพูชาได้เข้ามากวาดต้อนผู้คนในอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง จึงทรงคุมกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.1975 ตั้งล้อมนครหลวงอยู่เจ็ดเดือนได้ แล้วกวาดต้อนผู้คน และสิ่งสำคัญสำหรับบ้านเมืองเข้ามาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ทรงตั้งพระอินทราชา พระราชโอรสให้อยู่ครองกรุงกัมพูชา ที่นครหลวง ในฐานะเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทำให้กัมพูชาย้ายราชธานีไปตั้งที่อื่น ในที่สุดก็ตั้งขึ้นที่เมืองพนมเปญ

ในปี พ.ศ.1981 สมเด็จพระบรมราชาที่สอง ทรงตั้งพระราเมศวร พระราชโอรสไปครองหัวเมืองเหนือ ณ เมืองพิษณุโลก โดยรวมภาคเหนือ และภาคใต้เข้าด้วยกัน พระองค์ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1985 แต่ไม่สำเร็จ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1991

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม (พ.ศ.2031 - 2034) 

เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา ได้กลับเป็นราชธานีตามเดิม ส่วนพระเชษฐา พระราชโอรสองค์ที่สอง คงเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองเหนือทั้งปวง ณ เมืองพิษณุโลก ในแผ่นดินของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองทวายไปครั้งหนึ่ง แต่พระองค์ยกทัพไปตีเอาเมืองทวายกลับคืนมาได้ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2034 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เก้า ที่ครองกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ (พ.ศ.2072 - 2076) 

พระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2072 ทรงเป็นราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบเอ็ด ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เรียกอีกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชา หน่อพุทธางกูร"  ส่วนทางหัวเมืองเหนือคงจะได้ตั้ง พระไชยราชา ผู้เป็นพระน้องยาเธอ ต่างพระชนนี ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ ทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2076

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย