ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.1991 - 2031  ในแผ่นดินของพระองค์ พระองค์ได้บำเพ็ญกรณียกิจอย่างใหญ่หลวง โดยปรับปรุงการปกครองรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานีและแยกการทหาร และการพลเรือนออกจากกัน ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม พลเรือน เป็นสมุหนายก

สมุหพระกลาโหม  เป็นหัวหน้ามียศ เป็นอัครมหาเสนาบดี รับผิดชอบในการทหารทั้งในยามสงบ และยามสงคราม มีกองทัพสองกองทัพ อยู่ในบังคับบัญชาคือ กองทัพเดโช มี ออกญาสีหราชเดโชไชย เป็นแม่ทัพ  และกองทัพท้ายน้ำ มี ออกญาท้ายน้ำ เป็นแม่ทัพ นอกจากนี้มีกองทัพหลวง ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพด้วย
สมุหนายก  เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน มียศเป็น อัครมหาเสนาบดี มีอำนาจบังคับบัญชา ข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีเจ้ากระทรวง เป็นจตุสดมภ์ รองลงมาคือ
กรมเมือง  เรียกว่า นครบาล บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบสุขของราษฎร
กรมวัง  เรียกว่า ธรรมาธิกรณ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาถ้อยความของราษฎร
กรมคลัง  เรียกว่า โกษาธิบดี มีหน้ารับและจ่ายเก็บรักษา พระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยสาอากร ต่อมามีหน้าที่เกี่ยวกับสินค้าสำเภา และการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศด้วย
กรมนา  เรียกว่า เกษตราธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการไร่นา

หน้าที่ฝ่ายทหาร และพลเรือน แยกจากกันแต่ในยามสงบ เมื่อใดเกิดศึกสงครามก็รวมกำลัง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อป้องกันประเทศ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงวางหลักการปกครองหัวเมือง ให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี และพระองค์ยังทรงแบ่งบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็น

1. หัวเมืองชั้นใน  เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครนายก และเมืองฉะเชิงเทรา เป็นต้น
2. เมืองพระยามหานคร  ได้แก่ หัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองเอก โท ตรี
3. เมืองประเทศราช  ให้เจ้านายของราษฎรในประเทศราชปกครองกันเอง โดยอาศัยการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา เมืองประเทศราชต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงศรีอยุธยา และต้องส่งกองทัพมาช่วยเมื่อเกิดศึกสงคราม

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งยศ หรือบรรดาศักดิ์ข้าราชการ โดยจัดเป็นชั้นตามลำดับคือ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย นอกจากนี้ในปี พ.ศ.1998 พระองค์ได้ทรงวางตำแหน่งศักดินา กำหนดว่า ผู้มียศ หรือบรรดาศักดิ์ จะมีนาได้เท่าไร โดยลดหลั่นกันลงไป

สมเด็จพระอนุชาธิราช หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ดำรงตำแหน่ง พระมหาอุปราชทรงมีศักดินา 100,000 ไร่ เจ้านายชั้นสูง ทรงมีศักดินามากกว่า ข้าราชการจนถึง 15,000 ไร่ หรือ 20,000 ไร่  ส่วนข้าราชการมีศักดินามากกว่าพลเมืองทั่วไป ซึ่งได้กำหนดไว้คนละ 25 ไร่ ข้าราชการมีศักดินาได้ตั้งแต่ 100 ไร่ จนที่สุดถึง 10,000 ไร่ การกำหนดศักดินาเช่นนี้ มีความมุ่งหมายเพิ่มเติมที่จะใช้ในการปรับไหม ตามกฎหมาย และควบคุมมิให้ผู้ใดมีที่นาไว้เกินอัตภาพ

ส่วนประเพณีในราชสำนักนั้น พระองค์ได้ทรงตั้งกฎมนเทียรบาลขึ้นในปี พ.ศ.2001 เป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งเป็นสามแผนกคือ

1. พระตำรา ว่าด้วยแบบแผนเช่น การพระราชพิธีต่าง ๆ
2. พระธรรมนูญ ว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการต่าง ๆ
3. พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับสำหรับพระราชสำนัก

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเจ้านายกรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก ซึ่งได้ขึ้นไปครองราชอาณาจักรกรุงสุโขทัย พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.1974 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (เจ้าสามพระยา) พระราชชนนีเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์พระร่วง นับเป็นพระมหากษัตรย์พระองค์แรก ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงและราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.1981 ได้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก จนได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1991 พระองค์ประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 15 ปี จนถึงปี พ.ศ.2006 แล้วย้ายไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี จนสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2031 ส่วนกรุงศรีอยุธยากลายเป็นเมืองลูกหลวง มีพระบรมราชา พระราชโอรสครองอยู่ พระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุชั่วคราว ประทับ ณ วัดจุฬามณี ข้างใต้เมืองพิษณุโลก

เกี่ยวกับเหตุการณ์ชายแดนนั้น ในภาคใต้เมืองมะละกา ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาได้ทำการแข็งเมือง แม้ส่งกองทัพไปปราบแต่ก็ไม่เป็นผล ส่วนในภาคเหนือของไทยขึ้นไปเป็นอาณาจักรลานนา มีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ปกครองที่เมืองเชียงใหม่ พระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองสวรรคโลก ลอบไปเป็นไมตรีกับพระเจ้าติโลกราช ซึ่งทรงถือโอกาสยกกองทัพลงมาตีเมืองกำแพงเพชร เป็นเหตุให้กรุงศรีอยุธยาทำศึกกับลานนาหลายครั้ง ในที่สุดยุติลงเมื่อปี พ.ศ.2017 โดยพระเจ้าติโลกราชขอเป็นไมตรี

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย