ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติให้พุทธศาสนิกชนยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยตั้งหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ได้แก่

๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวงทั้งทางกาย วาจาและ ใจ
๒. ทำความดีทางกาย วาจาและใจ
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส

หลักธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นแก่นของคำสอนอื่น ๆ และถือว่าเป็นหัวใจที่ผู้มีคุณธรรมพึงยึดถือปฏิบัติ โดยมีคำสอนที่สำคัญมากมาย สำหรับวันนี้จะได้นำเสนอเกี่ยวกับธรรมอันเป็นเหตุแห่งการสงเคราะห์กันและกัน ซึ่งได้แก่ สังคหวัตถุ

สังคหวัตถุ คือธรรมอันเป็นเหตุหรือเป็นที่ควรสงเคราะห์กันและกันเพื่อจะยึดเหนี่ยวน้ำใจกันให้มั่นคง ๔ ประการ ดังนี้

๑. ทาน คือการให้หรือการแบ่งปันสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ผู้อื่น ทาน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ก. อามิสทาน คือการให้สิ่งของ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ฯลฯ

ข. ธรรมทาน คือ การให้ธรรม ได้แก่ความรู้ ศิลปวิทยาที่ปราศจากโทษ การให้ธรรมเป็นทานเป็นการให้ที่มีคุณมาก เพราะผู้รับธรรมจะได้รับประโยชน์มาก การให้จึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันเพราะเป็นเครื่องแสดงออกว่ามีพันธะหรือเยื่อใยต่อกัน

๒. ปิยวาจา คือ วาจาที่เป็น ที่รัก กล่าวคือ ปิยวาจาเป็นวาจาที่ทำให้ผู้ฟังรักใคร่พอใจ มิได้หมายถึงการพูดเสียงดี ไพเราะอ่อนหวานจับใจผู้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ลักษณะคำพูดที่ดี ได้แก่ พูดถูกต้องตรงเวลาหรือโอกาส พูดแต่ความจริง พูดอ่อนหวาน พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และพูดด้วยเมตตาจิต จะเห็น

ได้ว่า ปิยวาจาเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา จึงควรใช้ปิยวาจากับทุกคนและทุกโอกาสอย่างเป็นนิจ ปัจจุบันจะสังเกตได้ว่า การใช้ปิยวาจาน้อยลงทุกวันและมักเป็นคำพูดที่รุนแรงก้าวร้าวที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งของผู้คนในแต่ละสังคมได้โดยง่าย

๓. อัตถจริยา หมายถึง การประพฤติสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกัน ซึ่งทำได้ ๓ ทาง คือ
ทางกาย ได้แก่ ช่วยทำกิจกรรม การงาน ต่างๆ เพื่อส่วนรวม
ทางวาจา ได้แก่ ช่วยบอกคุณ บอกโทษแก่กัน การช่วยรับรองคุณงามความดีแก่กันและกัน เป็นต้น
ทางใจ ได้แก่ การช่วยคิด หรือช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่น

๔. สมานัตตา หมายถึง ความเป็นผู้มีตัวเสมอ ได้แก่ การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว สนิทสนมรักใคร่นับถือด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง แกล้งทำ

อคติ

ผู้ที่มีความยุติธรรมนั้น มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑. ไม่นิยมอัตตาธิปไตย คือ การถือตนเป็นใหญ่
๒. ไม่นิยมโลกาธิปไตย คือ การถือคนอื่นเป็นใหญ่
๓. นิยมธรรมาธิปไตย คือ การถือธรรมเป็นใหญ่ จะต้องเป็นผู้เว้นจากอคติ
ดังนั้น ผู้ที่จะได้ชื่อว่าถือธรรมเป็นใหญ่นั้น จึงต้องเป็นผู้เว้นจากอคติ ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะรักใคร่ หรือชอบพอกัน
๒. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะไม่ชอบกันหรือความโกรธเคืองกัน
๓. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะเขลาหรือหลง รู้เท่าไม่ถึงการณ์
๔. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะความกลัว

หิริ โอตตัปปะ

หิริ หมายถึง ความละอายใจในการทำบาปหรือทุจริต กล่าวคือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริตและมโนทุจริต ผู้มีหิริจะเป็นผู้ไม่กล้ากระทำผิดใด ๆ แม้ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ก็ตาม บุคคลใดก็ตามที่มีหิริ ผู้นั้นจะไม่ทำบาป ซึ่งจะก่อให้เกิดจิตใจอันผ่องใส บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน เป็นคนดีที่ควรเคารพนับถือของบุคคล ทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบุคคลทั่วไป

โอตตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาป ได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป โดยมีความเข้าใจว่าบาปให้โทษอย่างร้ายแรง จึงหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้สิ่งที่จะทำให้ตนมัวหมองและเป็นบาป เพราะมีความกลัวเกรงในผลแห่งความชั่วนั้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย