เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

โรคที่สำคัญของฝ้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร

โรคใบไหม้

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดแผลบนใบมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลจะขยายไปในบริเวณเส้นใบ มีลักษณะเป็นเหลี่ยม สีแผลจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ระยะนี้เรียกว่า โรคจุดเหลี่ยม บางครั้งเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายไปตามเส้นใบ แล้วขยายเป็นแผลกว้างติดต่อไปถึงก้านใบและเข้าสู่ลำต้น ระยะนี้เรียกว่า โรคก้านดำ ส่วนอาการที่เกิดบนสมอ แผลจะช้ำหรือฉ่ำน้ำขยายกว้างไม่มีขอบเขต ตรงกลางแผลบุ๋มมีสีน้ำตาลดำ ทำให้สมอเน่า ระยะนี้เรียกว่าโรคสมอเน่า ต้นฝ้ายที่เป็นโรคนี้จะเจริญเติบโตช้า ถ้าเป็นในระยะสมอจะทำให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ หรือนำเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่เป็นโรคมาปลูก
  2. หากใช้น้ำชลประทาน ไม่ควรให้น้ำในลักษณะฝนเทียมหรือสปริงเกิล เพราะจะทำให้เชื้อโรคกระจายไปทั้งแปลง ควรให้น้ำแบบปล่อยตามร่อง
  3. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์ศรีสำโรง 3, ศรีสำโรง 60, นครสวรรค์ 1

โรคใบหงิก

เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยอ่อนฝ้ายเป็นพาหะ โรคใบหงิก เป็นโรคที่ทำความเสียหายร้ายแรงที่สุด จะเป็นกับฝ้ายตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อนอยู่ ทำให้ต้นฝ้ายมีขนาดเล็กเส้นของใบอ่อน มักจะมีสีเขียวอ่อนกว่าปกติ ใบหงิกม้วนงอ แต่ถ้าเป็นโรคในระยะที่ฝ้ายอายุมาก จะแสดงอาการที่ยอด ส่วนใบล่างยังคงเป็นปกติ เมื่อบีบใบที่เป็นโรคจะเปราะกรอบ หากฝ้ายมีอายุไม่เกิน 50 วัน เป็นโรคใบหงิกจะทำให้ผลผลิต ลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจทำลายวัชพืชในแปลงฝ้ายที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น ต้นไม้กวาด ต้นสาบแร้งสาบกา
  2. หยอดก้นหลุมด้วยสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึม เช่น คาร์โบฟูราน 3% G อัตรา 0.5-1 กรัมต่อหลุมหรือฉีดพ่นด้วยโอเมทโธเอท 80% SL ตั้งแต่ฝ้ายเริ่มงอกเพื่อกำจัดเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะของโรค
  3. ใช้พันธุ์ที่ค่อนข้างจะต้านทานโรค เช่น พันธุ์ศรีสำโรง 2, ศรีสำโรง 3
  4. เมื่อพบฝ้ายที่เป็นโรคให้รีบถอนทำลายทันที

โรคใบจุด

เกิดจากเชื้อรา โดยเกิดเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนแล้วค่อยขยายเป็นวงกว้าง อาจมีลักษณะกลมหรือรีคล้ายเป้ากระสุน หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา จะทำให้แผลบนใบมีอาการไหม้ โดยเฉพาะใบอ่อนหรือยอดจะเห็นได้ชัด โรคใบจุดวงจะระบาดมากในแหล่งปลูกฝ้ายบนเนินเขา หรือตามไหล่เขาที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ฝนตกชุกอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ

การป้องกันกำจัด

  1. คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีเบนโนมิล 50 % อัตรา 5 - 10 กรัม/เมล็ดฝ้าย 1 กิโลกรัม
  2. หลังจากเก็บเกี่ยวฝ้ายแล้ว ให้ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย
  3. ไม่ปลูกพืชหมุนเวียนที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อรานี้ เช่น งา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มะเขือเทศ
  4. หมั่นตรวจแปลงฝ้าย ถ้าพบโรคระบาดให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น เบนโนมิล 50% WP อัตรา 6-10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก 2 สัปดาห์ควรพ่นสลับกับแมนเนป 80% WP อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

โรคจุดสีน้ำตาล

โรคนี้มักระบาดในระยะที่ต้นฝ้ายอายุมาก สมอเริ่มจะแก่ เพราะในระยะนี้ต้นฝ้ายมีการเปลี่ยนแปลง ในทางที่จะทำให้ต้นฝ้ายอ่อนแอ จึงง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา ผลผลิตอาจเสียหายน้อย แต่ถ้าโรคนี้ระบาดมากในระยะฝ้ายกำลังติดสมอ อาจทำให้ผลผลิตหรือคุณภาพของ เส้นใยฝ้ายลดลง

การป้องกันกำจัด

  1. หากโรคนี้ระบาดในระยะที่ต้นฝ้ายอายุมากไม่แนะนำให้ทำการป้องกันกำจัด
  2. หากพบว่าโรคนี้ระบาดในระยะกำลังติดสมอให้ทำการป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับโรคใบจุดวง

โรคเหี่ยว

สาเหตุเกิดจากเชื้อรามักเกิดกับฝ้ายที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ถ้าโรคนี้เกิดกับต้นฝ้ายที่มีอายุ 4-6 สับดาห์จะทำให้ใบร่วงแล้วแห้งตายหรืออาจจะแคระแกร็น แต่หากเกิดกับต้นฝ่ายอายุมากจะพบว่าใบเริ่มเหลืองเป็นแห่ง ๆ อยู่ในระหว่างเส้นใบแล้วค่อย ๆ ขยายบริเวณออกไปตรงกลางแผลจะแห้งทำให้เกิดเป็นดวง ๆ บนใบ ใบร่วง ต้นฝ้ายที่เป็นโรคนี้จะยืนต้นเหลือแต่ใบอ่อนที่ยอด

ปัจจุบันโรคเหี่ยวจะมีระบาดในบางท้องที่ ป้องกันและกำจัดได้ยากมาก เพราะเป็นเชื้อที่มีอยู่ในดิน จะระบาดเป็นหย่อม ๆ ในเนื้อที่ประมาณ 10-20 ตารางเมตร

การป้องกันกำจัด

  1. ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีที่ใช้กับโรคนี้ได้
  2. หลีกเลี่ยงการปลูกฝ้ายในแหล่งที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
  3. ปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่มีการระบาดของโรครุนแรง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง
  4. ทำลายต้นฝ้ายที่เป็นโรค โดยการถอนแล้วเผาไฟ ไม่ควรทิ้งไว้ในแปลงฝ้าย เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราที่จะระบาดในฤดูต่อไป
  • เรียบเรียงโดย ดร.ทวี เก่าศิริ กองโรคพืชและจุลชีววิทยา ,จันทนา บุญประภาพิทักษ์ กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ,อรพิน ถิระวัฒน์ กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
  • จัดทำโดย อัญชลี พัดมีเทศ กองเกษตรสัมพันธ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย