เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

ปอสา และการทำกระดาษสา

กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

       ปอสาเป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน มีชื่อเรียกกันหลายชื่อแล้วแต่ท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกปอสา ปอกะสา ภาคตะวันตก เรียก หมอพี หมกพี ภาคใต้เรียก ปอฝ้าย เป็นต้น เส้นใยปอสาส่วนใหญ่ได้จากเปลือกของลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพดี ในการผลิตกระดาษชนิดต่าง ๆ กระดาษสามีคุณสมบัติดี คือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน หากใช้ทำหนังสือตัวหนังสือจะไม่ซีดจางอยู่ได้นานกว่าร้อยปี ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่ ใช้ทำกระดาษด้วยมือ (hand - made paper) ทำประโยชน์ได้มากมาย ได้แก่ กระดาษทำร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ โคมไฟ พัด ว่าว บัตรอวยพรต่าง ๆ ตัดชุดแต่งงาน กระดาษวาดภาพ กระดาษห่อสารเคมีบรรจุในก้อนถ่านไฟฉาย และใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ในโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นพืชสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น ใบใช้ขับปัสสาวะ แก้พิษแมลงกัดต่อย กลากเกลื้อน ผลสุก ใช้บำรุงไต แก้อ่อนเพลีย เปลือกลำต้น ใช้ห้ามเลือด ราก แก้ไอ อาเจียร น้ำยางจากลำต้น ใช้แก้การบวมน้ำ และแมลงกัดต่อยด้วย

ปอสาเป็นพืชยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนคาบสมุทรเกาหลี และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบขึ้นเองตามธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนชุย มีความชื้นสูง โดยเฉพาะบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ริมลำธาร ตามชอกเขามีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบมากในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

ลำต้น

มีลักษณะกลมเปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้ม หรือมีลายดำน้ำตาลดำแกมม่วงหรือสีอื่น ๆ แล้วแต่พันธุ์เมื่อตัดต้นหรือกิ่งพบว่าระหว่างเปลือกกับแกนของลำต้น จะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา

ใบ

เป็นใบเดี่ยว มี 2 ลักษณะ คือ ชนิดใบมนรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ และชนิดใบแฉกมี 3-5 แฉก บางต้นจะมีใบทั้งสองชนิดบนต้นเดียวกัน ลักษณะใบมีขนอ่อนปกคลุมขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ปลายใบแหลม หลังใบมีสีเขียวแก่ ท้องใบสีเขียวอ่อนอมขาวสะท้อนแสง ใบมีความกว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 7-20 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร หูใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ดอก

มี 2 ชนิด คือ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้อยู่แยกจากกันคนละต้น เป็นต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ ช่อดอกตัวเมียที่เจริญเต็มที่มีลักษณะกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลุ่มดอกค่อนข้างแน่น ดอกอ่อนมีสีเขียว ยอกเกสรตัวเมียมีลักษณะยาว 1-3 เซนติเมตร อยู่โดยรอบ เมื่อดอกแก่ได้รับการผสมแล้ว แต่ละดอกจะเจริญไปเป็นผล มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ สีแดงอมส้ม อ่อนนุ่มภายในมีเมือกชื้น โดยมีส่วนของเมล็ดติดอยู่ด้านปลายผล ซึ่งนกและกระรอกชอบกินเป็นอาหาร สำหรับช่อดอกตัวผู้มีลักษณะยาว ประมาณ 2-15 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน ดอกย่อยมีกลีบดอก 4 กลับ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ปอสาจะออกดอกครั้งแรกเมื่อต้นอายุประมาณ 1 ปี ช่วงเวลาออกดอกไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ทยอยออกตลอดทั้งปีช่วงที่พบออกดอกมากมี 2 ช่วง คือ ช่วงแรกระหว่างเดือน กพ. - มีค. และ ช่วงที่ 2 ระหว่างเดือน มิย. - กค. ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

เมล็ด

มีสีน้ำตาลแดง มีขนาดเล็ก (น้ำหนัก 1 กรัม มีประมาณ 500 เมล็ด) ช่วงเวลาการเก็บเมล็ดระหว่างเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน จะได้เมล็ดสมบูรณ์มากกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม หรือช่วงอื่นๆ

ราก

ปอสา มีระบบรากแก้วไม่ลึกแต่มีการแตกราก แพร่กระจายออกรอบ ๆ ต้น สามารถใช้ขยายพันธุ์ได้

พันธุ์

ปอสาไทย (Broussonetia papyrifera Vent) ปัจจุบันชาวบ้านแยกพันธุ์ตามลักษณะสีของลำต้น ที่พบได้แก่ พันธุ์ต้นลาย พันธุ์ต้นไม่มีลายสีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำแกมม่วง เป็นต้น สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้รายงานการจำแนกพันธุ์ตามสีของก้านใบเป็น 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ที่มีก้านใบเป็นสีน้ำตาล แกมม่วง พบอยู่ในสภาพธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วประเทศ และพันธุ์ที่มีก้านใบเป็นสีเขียวอ่อน พบครั้งแรกในเขต อำเภอปากชม จังหวัดเลย และขึ้นแพร่กระจายตามริมแม่น้ำ เขตรอยต่อประเทศลาย ปอสาญี่ปุ่น (Broussonetia kazinoki Sieb) เริ่มมีการทดลองนำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่รวบรวมรายงานไว้มี 4 พันธุ์ได้แก(

  • Aka Kozo ลักษณะลำต้นสีแดง ใช้ผลิตกระดาษคุณภาพดี
  • Kuro Kozo ลักษณะลำต้นสีดำ
  • Shiko Kozo ลักษณะลำต้นสีขาว
  • Yama Kozo ชอบขึ้นตามที่สูง เปลือกลำต้นมีลักษณะบางกว่าปอสาชนิดอื่น ๆ

สำหรับ Tsuru Kozo (Broussonetia kaempferi) มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยใช้ทำกระดาษได้เช่นกัน

» การขยายพันธุ์
» สภาพพื้นที่ปลูก
» การเตรียมกล้าพันธุ์
» การปลูก
» การดูแลรักษา
» การเก็บเกี่ยว
» ต้นทุนการผลิต
» การใช้ประโยชน์
» การแปรรูป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย