เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

อ้อยพันธุ์รับรอง

กรมส่งเสริมการเกษตร

พันธุ์ : อู่ทอง 2

วันที่รับรอง : 09 กันยายน 2536
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : เป็นลูกผสมเปิดของพันธุ์ IAC 52-326 ทำการผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ปี 2524 นำเมล็ดมาเพาะปลูกคัดเลือก ครั้งที่ 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ปี 2526 เปรียบเทียบพันธุ์อ้อยเบื้องต้นที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทปีพ.ศ. 2527-2528 เปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อย ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบรี และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ปี 2528 - 2530 เปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในท้องถิ่นที่ไร่กสิกร จ.กาญจนบุรี ปี 2529 - 2531 เปรียบเทียบพันธุ์อ้อยในไร่กสิกร อ.ด่านมะขามเตี้ย และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ปี 2530-2532 ผลปรากฏว่า เป็นอ้อยที่สะสมน้ำตาลเร็วมีค่า CCS มากกว่า 10 เมื่ออ้อยอายุ 9 เดือนขึ้นไป ผลผลิตเฉลี่ยจากอ้อยปลูก อ้อยตอ 1 อ้อยต่อ 2 ประมาณ 14 ตัน/ไร่

ลักษณะดีเด่น :

  1. สะสมน้ำตาลเร็วเมื่ออายุ 9 เดือน ในเดือนธันวาคม มีค่า CCS มากกว่า 10
  2. รักษาระดับน้ำตาลในลำต้นได้สูง และอยู่ได้นาน
  3. ผลผลิตอ้อยอายุ 9 เดือน มีค่าใกล้เคียงกับพันธุ์อู่ทอง 1 เมื่อปลูกในดินร่วน
  4. แนะนำเพิ่มเติมมีรายได้มากกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 เมื่ออายุ 9 เดือน
  5. อ้อยพันธุ์ 81-1-026 ออกดอกเร็วควรตัดให้เสร็จสิ้นภายใน เดือนมีนาคม เพื่อน้ำหนักผลผลิตจะได้ไม่ลดลง
  6. แหล่งแนะนำ พื้นที่ดินร่วน เขตชลประทานภาคกลางและภาคตะวันตก

ความต้านทานโรค : ต้านทานโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง และอ่อนแอต่อโรคใบขาว

ข้อควรระวัง : อ้อยพันธุ์อู่ทอง 2 ออกดอกเร็ว ดังนั้นควรตัดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม เพื่อน้ำหนักผลผลิตและน้ำตาลจะได้ไม่ลดลง

พันธุ์ : อู่ทอง 5

วันที่รับรอง : 29 สิงหาคม 2545
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : เป็นอ้อยที่ได้จากการผสมข้ามแบบ polycross โดยมี 87-2-1033 (อู่ทอง 1x อีเหี่ยว) เป็นแม่พันธุ์ ในปี 2533 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี 2534 คัดเลือกครั้งที่ 1 ได้ลูกอ้อย 193 โคลน ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบรี ในปี 2535-2536 คัดเลือกครั้งที่ 2 ในอ้อยปลูกได้อ้อย 86 โคลน และคัดเลือกครั้งที่ 2 ในอ้อยต่อ 1 ได้อ้อย 44 โคลน ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีในปี 2537-2538 เปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และสถานีทดลองพืชไร่ พระพุทธบาท 4 แปลงทดลอง ในปี 2538-2540 เปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีและศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง 5 แปลงทดลอง ปี 2539-2541 เปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกร ในเขตชลประทานที่ อ.ท่ามะกา อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในเขตน้ำฝนที่ อ.เมือง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 18 แปลง ทดลอง ปี 2540-2542 ทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร เขตชลประทานที่ จ.ราชบุรี และเขตใช้น้ำฝน จ.อุทัยธานี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 9 แปลงทดลอง

ลักษณะเด่น :

  1. ให้ผลผลิตน้ำตาลสูง ในเขตใช้น้ำฝนดินร่วนปนทรายให้ผลผลิตน้ำตาล 1.48 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 ร้อยละ 11 และ 44 ตามลำดับ
  2. มีการไว้ตอดี ในเขตใช้น้ำฝนให้ผลผลิตน้ำหนักในอ้อยตอ 1 เฉลี่ย 10.95 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตน้ำหนักในอ้อยตอ 2 เฉลี่ย 8.87 ตัน/ไร่ อ้อยต่อ 1 ให้ผลผลิตน้ำหนักสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 ร้อยละ 33 สำหรับอ้อยต่อ 2 ให้ผลผลิตน้ำหนักสุงกว่าพันธุ์อู่ทอง 2 ร้อยละ 14
  3. ให้ผลผลิตน้ำตาลในอ้อยตอ 1 เฉลี่ย 1.71 ตันซีซีเอส/ไร่ และให้ผลผลิตน้ำตาลในอ้อยตอ 2 เฉลี่ย 1.40 ตันซีซีเอส/ไร่ อ้อยต่อ 1 ให้ผลผลิตน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 1 พันธุ์อู่ทอง 2 ร้อยละ 8 และ 42 ตามลำดับ สำหรับอ้อยตอ 2 ให้ผลผลิตน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง1 และ อู่ทอง2 ร้อยละ 15 และ 30 ตามลำดับ

พื้นที่แนะนำ : ควรปลูกอ้อยโคลน 90-2-318 ในสภาพไร่ ซึ่งมีดินร่วนปนทรายในเขตใช้น้ำฝนในภาคกลาง ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.สระแก้ว ซึ่งไม่มีโรคเหี่ยวเน่าแดงระบาด และไม่ควรปลูกในเขต จ.สิงห์บุรี และจ.อ่างทอง ซึ่งมีโรคเหี่ยวเน่าแดงระบาด

ข้อควรระวัง : อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวแดง ออกดอกเร็ว อายุ 11 เดือน

พันธุ์ : ชัยนาท 1

วันที่รับรอง : 14 ธันวาคม 2526
ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้มาจากการผสมเปิดของอ้อยพันธุ์ SP 074 ซึ่งมาจาก Sao Paulo ประเทศบราซิล โดยปลูกรวบรวมที่แปลงพันธุ์อ้อยของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี แล้วดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2533 - 2538

ลักษณะดีเด่น :

  1. ให้ผลผลิตน้ำอ้อยสูง 4,913 ลิตรต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สิงคโปร์โดยให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ยสูงเป็น 2.3 เท่า ของพันธุ์สิงคโปร์
  2. น้ำอ้อยสดมีความหวาน(บริกซ์) 16.1 ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สิงคโปร์ 10 เปอร์เซ็นต์
  3. แตกกอดีโดยให้จำนวนลำต่อไร่สูง 12,198 ลำ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สิงคโปร์ ถึง 91 เปอร์เซ็นต์
  4. สามารถไว้ตอได้ดี ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี

ลักษณะประจำพันธุ์ :

  1. มีใบขนาดใหญ่ ปลายใบโค้ง
  2. ลำต้นมีสีเขียวอมเหลือง รสชาติหวานหอม แตกกอดี มีจำนวนลำประมาณ 12,000 ลำต่อไร่
  3. ปล้องมีรูปร่างทรงกระบอกค่อนข้างยาว ไม่มีร่องเหนือตา
  4. ตามีรูปร่างกลม มีวงเจริญเหลืองและนูน ข้อโปน
  5. มีการออกดอกบ้างในอ้อยตอ ในช่วงเดือนธันวาคม
  6. อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ 8 เดือน

พื้นที่แนะนำ : อ้อยคั้นน้ำพันธุ์นี้ให้ผลผลิตน้ำอ้อยดีกว่าพันธุ์สิงคโปร์ ในทุกสภาพแวดล้อมที่ทดสอบ และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง และ
ภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งปลูกอ้อย

ความต้านทานโรค : มีความทนทานต่อโรคแส้ดำ โรคใบขาว และโรคลำต้นเน่าแดง

ความต้านทานแมลง : พบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยน้อย ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์

จัดทำโดย : ดาราวรรณ ทวีศักดิ์บวรกุล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย