เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

โรคที่สำคัญของถั่วลิสง

กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

ในการปลูกถั่วลิสงนั้น เกษตรกรมักประสบกับความเสียหายเนื่องจากการทำลายของโรคอยู่เสมอ ๆ ซึ่งโรคที่เกษตรกรมักพบในแปลงปลูกเป็นประจำ ได้แก่ โรคใบจุดและโรคราสนิท โดยจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

โรคใบจุดนูน

ลักษณะอาการ จะมีจุดแผลแห้งตายสีดำหรือน้ำตาลบนใบ รูปร่างค่อนข้างกลมขนาดไม่แน่นอนรอบรอยแผลมักจะมีขอบสีเหลือง การเกิดแผนจะเริ่มจากใบล่างแล้วลุกลามขึ้นสู่ใบบน ใบที่ถูกทำลายอย่างรุนแรงมักแห้งตายและหลุดร่วง โรคนี้จะพบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน

การป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกถั่วลิสงกลางฤดูฝน
  2. ถ้าพบอาการของโรคในระยะที่ต้นถั่วลิสงเริ่มออกดอกและสภาพอากาศมีความชื้นสูงควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล+แมนโคเซ็บ หรืออกซีคาร์บ๊อกซินหากเป็นโรคใบจุดสีดำควรฉีดพ่นสารเคมีให้ถูกด้านใต้ใบมากที่สุด
  3. ถ้าพบอาการในระยะที่ฝักเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพ่นสารเคมีใด ๆ เนื่องจากระยะนี้จะมีผลกระทบต่อผลผลิตน้อย
  4. ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมดหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคในฤดูถัดไป

โรคราสนิท

โรคราสนิทจะพบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกถั่วลิสง โดยมักจะเกิดร่วมกับโรคใบจุดลักษณะอาการคือ ใบที่เป็นโรคจะมีแผลสีน้ำตาลขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วผิวใบ โดยเริ่มจากใบล่างแล้วค่อยลุกลามขึ้นสู่ใบบน เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบจะเห็นเป็นตุ่มนูน ปกคลุมด้วยผงสปอร์ (ส่วนขยายพันธืของเชื้อรา) ลักษณะคล้ายผงสนิมเหล็กจำนวนมากมาย

โรคราสนิมนี้แพร่ระบาดได้ดีในสภาพที่มีความชื้นสูงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และอากาศเย็นในตอนกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบการระบาดของโรคนี้มาก

การป้องกัน

  1. ควรเลี่ยงการปลูกถั่วลิสงตอนช่วงกลางหรือปลายฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่มักจะมีการระบาดของโรคราสนิท
  2. หากพบโรคราสนิทในระยะออกดอกถึงฝักอ่อน จะทำให้ผลผลิตลดลงมาก ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น คลอโรธาโลนิลแมนโคเซบ โดยจำนวนครั้งที่จะฉีดพ่นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่ถ้าถบโรคราสนิทในระยะที่ถั่วแก่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี เพราะโรคนี้จะไม่ทำความเสียหายให้กับผลผลิต
  3. ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคในฤดูถัดไป
เรียบเรียงโดย
อรพิน ถิระวัฒน์ และ วิโรจน์ สุนทรภัค และ จันทนา บุญประภาพิทักษ์
กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช อัญชลี สวจิตตานนท์ กองเกษตรสัมพันธุ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย