สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>

นายควน ทวนยก

นายควน ทวนยก ปัจจุบันอายุ 71 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2482 ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวาส จังหวัดสงขลา และศึกษาดนตรีไทยวงปี่พาทย์ ต่อมาเรียนระนาดทุ้ม ฆ้องวง กลองทัด ตะโพน และเป่าปี่ ขณะเรียนเป่าปี่ก็เกิดความรู้สึกว่าชอบปี่ จึงได้ไปเรียนปี่หนังตะลุงแบบครูพักลักจำจากนายปี่หนังตะลุงทั่วไปด้วย ต่อมาได้หัดเป่าปี่โนราโดยมีขุนอุปถัมภ์นรากรชี้แนะทางปี่ให้ นายควน ทวนยก ได้เข้ารับราชการตำแหน่งคนสวนของวิทยาลัยครูสงขลา จนเกษียณอายุราชการ

นายควน ทวนยก เริ่มเป่าปี่เมื่ออายุ 16 ปี จนถึงปัจจุบัน เป็นนายปี่ให้คณะหนังตะลุงและโนราหลายคณะทั้งในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดอื่น ๆ ในช่วง 10 ปีแรก แสดงปีละ 200 ครั้ง เป่าปี่มวย ประมาณ 40 ครั้ง และแสดงในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส กรีซ ตุรกี เป็นต้น นายควน ทวนยก เป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่นกว่างานอื่น ๆ ผลงานเพลงที่คิดขึ้นใหม่มีมากกว่า 50 เพลง มีทั้งเพลงคิดเองทั้งหมด นำเพลงเก่ามาสร้างสรรค์ใหม่ และเพลงที่ประสมประสานเพลงเก่ากับเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยมีเทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์คือ บรรจุทำนองเพลงตามลักษณะท่ารำ นำเพลงเก่าที่ไม่ค่อยมีผู้นำมาบรรเลงในการแสดงหนังตะลุงและโนรามาใช้บรรเลงเพลงประกอบระบำจึงเป็นการสืบทอดเพลงไม่ให้สูญหาย และคัดสรรทำนองเพลงที่มีสำเนียงแขกมาปนอยู่เพื่อแสดงออกถึงความเป็นดนตรีท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บทเพลงต่าง ๆ มีสำเนียงที่นุ่มนวลอ่อนหวาน และมีกลิ่นอายวัฒนธรรมทางใต้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมนำไปแสดงในวงกว้างอย่างต่อเนื่องเสมอมา

จากผลงานดังกล่าวจึงได้รับเชิญเป็นครูสอนการเป่าปี่หนังตะลุงและโนราแก่นักศึกษารายวิชาดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปัจจุบัน นายควน ทวนยก ยังไม่ละทิ้งงานที่ตนรักได้ถ่ายทอดวิชาการเป่าปี่ให้กับผู้สนใจและอนุชนรุ่นหลังทั้งนอกระบบและในระบบ เป็นวิทยากรสอนภาควิชาดนตรีไทย สาขาดนตรีพื้นบ้าน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ประวัติชีวิต

นายควน ทวนยก ปัจจุบันอายุ 71 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2482 ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บิดาชื่อ นายคล้อย ทวนยก มารดาชื่อ นางตั้ง ทวนยก ภรรยาชื่อ นางเจียม ทวนยก มีบุตรชาย 3 คน

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2497 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวาส บ้านหนองหอยออก ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

นายควน ทวนยก เริ่มศึกษาวิชาดนตรีไทยครั้งแรกกับปู่ คือ นายตุด ทวนยก เป็นหัวหน้าวงและครูสอนปี่พาทย์อยู่ที่ตำบลวัดขนุน อายุ 12 ปี เกิดความรู้สึกรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ มีความต้องการเล่น ต้องการมีชื่อเสียง และต้องการสืบทอดเจตนารมณ์วงปี่พาทย์ของปู่ จึงเริ่มต้นเรียนระนาดเอกกับปู่ ต่อมาได้เรียนระนาดทุ้ม ฆ้องวง กลองทัด ตะโพน พร้อมกันไปด้วย ฝึกเล่นอยู่ประมาณ 2 ปี ขณะนั้นอายุ 14 ปี ได้เริ่มเรียนเป่าปี่ โดยปู่เป็นผู้สอนให้อีกเช่นกัน พอนายควน ทวนยก ได้เป่าปี่เกิดความรู้สึกว่าชอบปี่ ช่วงที่เรียนปี่วงปี่พาทย์อยู่นั้นนายควน ทวนยก ก็ได้เรียนปี่หนังตะลุงไปด้วย โดยการเลียนแบบ “ครูพักลักจำ” จากนายปี่หนังตะลุงทั่วไป อายุ 16 ปี จึงได้ออกโรงเป็นนายปี่หนังตะลุงตัวจริงเป็นครั้งแรกให้กับนายหนังเพียร เกาะสมุย พ.ศ. 2509 เริ่มหัดเป่าปี่โนราเป็นครั้งแรกตอนที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์เครื่องมือกล จังหวัดสงขลา และได้เป็นนายปี่ให้คณะหนังเจือ พานยาว

พ.ศ. 2516 ได้เป็นนายปี่ให้โนรากัลยา นาฏราช จังหวัดระนอง โดยการชักนำและสนับสนุนจากพระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เป็นนายปี่โนรากัลยาทุกครั้งที่มาเล่นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันก็ได้เป็นนายปี่ให้กับคณะโนราของวิทยาลัยครูสงขลาด้วยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

การหัดปี่โนราในช่วงแรกหัดโดยวิธีครูพักลักจำเช่นเดียวกับการหัดเป่าปี่หนังตะลุง บุคคลที่ชี้แนะทางปี่โนราให้มากที่สุดคือ ขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่ม เทวา) สิ่งที่ได้รับคือ เพลงรำเพลงปี่ พิธีกรรมตอนรำเพลงปี่ ตอนออกผนวช รำแทงเข้ เหยียบลูกนาว เฆี่ยนพราย และการใช้อารมณ์ในการเป่าปี่

ประวัติการทำงาน

นายควน ทวนยก สามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด แต่เครื่องดนตรีที่ถนัดมากที่สุดคือ ปี่ โดยเฉพาะปี่หนังตะลุงกับปี่โนรา ซึ่งเป็นปี่กลางกับปี่ใน ลำดับการเป็นนายปี่ทั้งปี่หนังตะลุงและปี่โนรา ดังนี้

  • พ.ศ. 2498 เริ่มเป่าปี่ออกโรงเป็นนายปี่มืออาชีพครั้งแรกให้หนังเพียร เกาะสมุย โดยเล่นที่บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เล่นให้กับหนังเพียรจนกระทั่งหนังเพียรย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2501 เป็นนายปี่หนังเจือ พานยาว
  • พ.ศ. 2505 เป็นนายปี่หนังประคองศิลป์ (ประคอง ผลบุญ) ให้มากที่สุด นอกจากนั้นหากมีเวลาว่าง หนังคณะใดมาขอร้องก็จะไปเป็นนายปี่ให้ทุกคณะและทุกครั้ง
  • พ.ศ. 2509 ได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานสำรวจทางของศูนย์เครื่องมือกล จังหวัดสงขลา รับจ้างเป็นนายปี่ให้คณะหนังทั่วไปโดยไม่สังกัดคณะเหมือนก่อน และในปีเดียวกันได้เป่าปี่โนราให้กับคณะโนราเติม
  • พ.ศ. 2516 ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งคนสวนของวิทยาลัยครูสงขลา จนเกษียณอายุราชการ พ.ศ. 2443
  • พ.ศ. 2526 - ปัจจุบัน เป็นครูสอนเป่าปี่ให้นักศึกษาวิชาเอกดนตรี วิทยาลัยครูสงขลา มีผู้เรียน จำนวนมาก ทุกคนที่เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งในด้านการเป่าปี่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ ไปประกอบอาชีพได้
  • พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา โดย รศ.อุดม หนูทอง ได้เชิญนายควน ทวนยก ไปเป็นวิทยากรสอนการเป่าปี่ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา แต่สอนได้เพียงรุ่นเดียวก็หมดโครงการ การสอนครั้งนั้นมีผู้เรียนรวม 10 คน ระดับความสำเร็จทุกคนสามารถนำความรู้ไปสอนต่อให้ศิษย์ได้
  • พ.ศ. 2542 เป็นนายปี่ให้คณะโนราวิทยาลัยครูสงขลา พร้อมกันก็เป็นนายปี่หนังตะลุงสลับกัน จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และในปีนี้ได้เดินทางไปเป่าปี่ ณ ต่างประเทศเป็นครั้งแรก คือ ประเทศมาเลเซีย เป็นการเป่าปี่หนังตะลุง จากนั้นก็ได้เดินทางไปเป่าปี่โนรา ณ ต่างประเทศอีกหลายครั้ง ทั้งประเทศในแถบเอเซียและยุโรป โดยเดินทางไปกับคณะโนราของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  • พ.ศ. 2542 เกษียณอายุราชการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  • พ.ศ. 2544 เป็นลูกจ้างชั่วคราว บุคลากรด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2547 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงลา ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาไทย รับสมัครเยาวชนในจังหวัดสงขลา มาเรียนรู้สาขาดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน โดยมีนายควน ทวนยก เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและกำกับการสอนจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และเป็นวิทยากรสอนภาควิชาดนตรี สาขาดนตรีพื้นบ้าน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่การแสดงต่อสาธารณชน

นายควน ทวนยก จะออกงานแสดงร่วมอยู่กับคณะการละเล่นพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหนังตะลุงและโนรา รวมทั้งการแสดงร่วมกับคณะนาฏศิลป์วิทยาลัยครูสงขลา เริ่มเป่าปี่เมื่ออายุ 16 ปี พ.ศ. 2498 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นนายปี่หนังตะลุงให้นายหนังหลายคณะทั้งในจังหวัดสงขลา พัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วง 10 ปีแรก แสดงปีละ 200 ครั้ง ช่วง 33 ปีหลัง แสดงปีละ 100 ครั้ง และภายหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เริ่มเป่าปี่มวยอีกประมาณ 40 ครั้ง สำหรับภาคอื่น ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดมหาสารคาม เชียงใหม่ ราชบุรี ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี นครราชสีมา เลย บุรีรัมย์ ชลบุรี ลพบุรี เพชรบุรี นครปฐม เชียงราย สุโขทัย นครสวรรค์ อุบลราชธานี นครพนม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ นอกจากนี้ ยังแสดงในต่างประเทศอีกด้วย ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สวิทสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนลาว สาธารณรัฐรัสเซีย กรีซ ตุรกี นอกจากนี้ นายควน ทวนยก ยังได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาทางด้านดนตรีพื้นบ้านโดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่นกว่างานสร้างสรรค์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ เพลงประกอบระบำ 50 เพลง การคิดแต่งทำนองการขึ้นปี่

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานเหรียญสมเด็จย่า จากพระหัตถ์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ณ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
  • พ.ศ. 2526 ได้รับเชิญเป็นครูสอนการเป่าปี่หนังตะลุง-โนรา แก่นักศึกษารายวิชา ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้เป็นครั้งแรก จากภาควิชาดนตรี วิทยาลัยครูสงขลา
  • พ.ศ. 2542 โล่ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ โปรแกรมวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

นายควน ทวนยก ได้รับเชิญและขอความร่วมมือให้ไปร่วมงานการแสดงโนรา หนังตะลุง และปี่มวยอยู่เป็นประจำและบ่อยครั้ง จนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนและไม่ได้รับค่าตอบแทน มีความสนใจการทำงานด้านดนตรีพื้นบ้านมาตลอด และใช้ความรู้ความสามารถด้านนี้ตอบแทนสังคมเสมอมา

ปัจจุบัน นายควน ทวนยก ยังไม่ละทิ้งงานที่ตนรัก ไม่หยุดการสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีพื้นบ้านเลย โดยได้ร่วมคิดร่วมทำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร และโปรแกรมวิชาดนตรีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดแสดงผลงาน “แลโด้โหมศิลปกรรม” ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน รวม 7 ครั้ง ซึ่งเป็นผลงานการแสดงใหม่ประจำปีเสมอ และยังคงใช้เวลาว่างเขียนบทหนังตะลุงเพิ่มเติมเพื่อใช้กับการฝึกศิษย์ และที่สำคัญสร้างสรรค์บทเพลงเฉพาะกิจ เฉพาะชุดการแสดงของโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อย่างสม่ำเสมอ นายควน ทวนยก สร้างผลงานด้วยใจทั้งที่ไม่มีความรู้ภาคทฤษฎีดนตรี ทุกครั้งที่สร้างสรรค์งานจะประสานกลมกลืนกับการแสดงที่คิดขึ้นใหม่เฉพาะการของทุกหน่วยงานที่ขอให้ช่วย

นางประนอม ทาแปง
นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์
นายควน ทวนยก
นายสมบัติ พลายน้อย
นายสุประวัติ ปัทมสูต
นายสุรชัย จันทิมาธร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย