ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

อภิปรัชญา

      คำว่า อภิปรัชญา แปลตามตัวว่า ปรัชญาอันยิ่งหรือปรัชญาชั้นสูง เป็นคำที่ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงคิดขึ้นใช้แทนคำ metaphysics โดยทรงคิดเทียบเคียงกับคำอภิธรรมปิฎก ส่วนเหตุผลที่ทรงคิดบัญญัติคำนี้ขึ้น ทรงอธิบายไว้ว่า “คำ metaphysics นั้นจะแปลตามมูลศัพท์ไม่ได้ เพราะเป็นคำซึ่งผูกขึ้นเนื่องมาจากเหตุบังเอิญ คือ ข้อความซึ่งอาริสโตเติล แสดงในเรื่องหลักมูลแห่งวิชาความรู้ ที่เรียกว่า First Philosophy นั้นบังเอิญอยู่หลังตอนที่แสดงเรื่องฟิสิกส์ ฉะนั้นการหาคำแปลจึงต้องหาคำซึ่งมีความหมายถึง First Philosophy ในพระไตรปิฎก มีอภิธรรมปิฎก ซึ่งว่าด้วยเนื้อความอย่างยิ่ง ฉะนั้นโดยทำนองเดียวกัน First Philosophy ก็อาจแปลได้ว่าอภิปรัชญา ด้วยเหตุนี้จึงได้แปล metaphysics ว่า อภิปรัชชา นั่นคือ อภิปรัชญา ก็คือ First Philosophy ของอาริสโตเติล และ First Philosophy ก็คือ metaphysics

ที่มาของคำ metaphysics ที่ พลตรีพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงอธิบายไว้ว่า คำ metaphysics ผูกขึ้นเนื่องมาจากเหตุบังเอิญนั้น เพราะเมื่อราว พ.ศ. 480 แอนโดรนิคุส แห่งเกาะโรดส์ ผู้เป็นบรรณาธิการ รวบรวมข้อเขียนของอาริสโตเติลจัดเรียงเข้าไว้เป็นลำดับ โดยเรียงไว้หลังปรัชญาธรรมชาติ หรือฟิสิกส์ และนีโคลาอุส แห่งดามัสกัสเป็นคนแรกที่เรียก First Philosophy ตามลำดับที่เรียงอยู่ คือ เรียกว่า ta metata physika ซึ่งเป็นคำภาษากรีก แปลว่า ส่งิที่มาหลัง physika คำ meta แปลว่า หลังหรือภายหลัง คำ physika ก็คือ physics แต่มีความหมายกว้างกว่าฟิสิกส์ในปัจจุบัน คำนี้ หมายถึงธรรมชาติศาสตร์นั่นเอง

 

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 11 โบเอทิอุส นักปรัชญาชาวโรมันได้ใช้คำในภาษาละตินเพียงคำเดียวมาแทนคำนั้น คือ ใช้ว่า metaphysical และคำใหม่นี้ได้ใช้กันแพร่หลายในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ผู้ที่มีส่วนทำให้ใช้คำนี้กันแพร่หลาย คือ อะเวอร์โรอีส ชาวอาหรับกับเพื่อน ๆ ฉะนั้นคำ metaphysics ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงมาจากคำ metaphysics นี้เอง เหล่านี้เป็นต้นเหตุให้บัญญัติคำ metaphysics ขึ้น และแม้คำนี้ผูกขึ้นโดยบังเอิญไม่ประสงค์จะให้เป็นชื่อวิทยาการแผนกใด นอกจากจงใจเรียก First philosophy ก็ตาม แต่ได้มีผู้แปลความหมายของคำนี้กว้างออกไปว่า คำ meta แปลว่า หลังหรือเลยไปจาก physics ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เรารู้สึกด้วยอินทรีย์ หรือประสาทสัมผัส นั่นคือ metaphysics กล่าวถึงสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ทางอินทรีย์หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ดังนั้น จึงได้มีผู้คิดคำบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า อตินทรีย์วิทยา แต่ไม่มีใครนิยมใช้ตาม เลยตายไปเอง

มาปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยส่วนมาก ว่า metaphysics หรืออภิปรัชญา ไมได้หมายถึงแต่ First philosophy เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา ซึ่งว่าด้วยความจริงแท้ คือความแท้จริงเรื่องโลก คน และภาวะเหนือธรรมชาติ ต่างกับญาณวิทยา ซึ่งว่าด้วยความรู้ และจริยศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยความประพฤติของมนุษย์ และถือว่า อภิปรัชญาเป็นพื้นฐานหรือเป็นเนื้อหาที่แท้จริงของปรัชญา เพราะการจะรู้ว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก หรือว่าจะตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรงาม อะไรไม่งาม นั้นจะต้องรู้เสียก่อนว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง ซึ่งเป็นปัญหาทางอภิปรัชญา ฉะนั้น อภิปรัชญาจึงได้ชื่อว่า เป็นพื้นฐานของปรัชญา

นิยามคำอภิปรัชญาตามทรรศนะตะวันตก
อภิปรัชญากับศาสนา
อภิปรัชญากับวิทยาศาสตร์
อภิปรัชญา คือ บทสังเคราะห์ข้อยุติของศาสตร์ทั้งหลาย

อ้างอิง :
อดิศักดิ์ ทองบุญ.2526. คู่มืออภิปรัชญา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประยูรวงศ์จำกัด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย